เกษตรกรไทย ร้อยละ 74.09 เป็นหนี้มากขึ้น ชี้ราคาผลผลิตตกต่ำเป็นสาเหตุก่อหนี้มากที่สุด

        ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 773 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1 – 15 มิถุนายน 2562 ในหัวข้อ “ภาวะหนี้สินของเกษตรกรไทย ปี 2562” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามเกษตรกรไทยเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ ภาระหนี้สิน สาเหตุของภาระหนี้สิน และแนวทางในการบริหารจัดการหนี้สินด้วยตนเอง สรุปผลได้ดังนี้ จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2562 เกษตรกรร้อยละ 45.07 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมา ส่วนร้อยละ 29.20 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 25.73 ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการสอบถาม พบว่า เกษตรกรถึงร้อยละ 74.09 มีภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 49.28 มีหนี้สินไม่เกิน 100,000 บาท รองลงมา ร้อยละ 24.74 มีหนี้สินมากกว่า 300,000 บาท ร้อยละ 14.85 มีหนี้สินระหว่าง 100,001 - 200,000 บาท และร้อยละ 11.13 มีหนี้สินระหว่าง 200,001 - 300,000 บาท ตามลำดับ ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.26 คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี ร้อยละ 24.10 คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลา 6 - 10 ปี ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 9.64 คาดว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ภายในระยะเวลามากกว่า 10 ปี ส่วนภาระหนี้สินในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า เกษตรกรร้อยละ 38.77 มีภาระหนี้สินไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา ส่วนร้อยละ 35.11 มีภาระหนี้สินมากขึ้น มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 26.12 ที่มีภาระหนี้สินลดลง ในส่วนของแหล่งเงินกู้พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 62.61 กู้ยืมเงินมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รองลงมา ร้อยละ 42.43 กู้ยืมเงินมาจากกองทุนหมู่บ้าน ร้อยละ 12.81 กู้ยืมเงินมาจากธนาคารพาณิชย์ ร้อยละ 12.68 กู้ยืมเงินมาจากสหกรณ์ ร้อยละ 8.67 กู้ยืมเงินมาจากญาติพี่น้อง และร้อยละ 5.69 กู้ยืมเงินมาจากแหล่งเงินกู้นอกระบบ ตามลำดับ

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด