ผู้ประกอบการ ไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่ ร้อยละ 80.11 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ปรับตัวโดยจัดโปรโมชั่น ขายออนไลน์และทำสวนดอกไม้ กระตุ้นลูกค้าภายในประเทศ

        

ผู้เขียน: นางสาวเบญจวรรณ  จันทร์แก้ว    

     ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการด้านไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น  362 ราย ระหว่างวันที่ 8 – 16 พฤศจิกายน 2563  ในหัวข้อ “ไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่อยู่รอดอย่างไร ภายใต้สถานการณ์โควิด-19”  มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการด้านไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ต่อผลกระทบจากการ
แพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

     ผลการสำรวจผู้ประกอบการด้านไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.11 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 โดยมีปัจจัยอันดับ 1 คือความต้องการใช้ไม้ดอกไม้ประดับลดลงจากการปิดตัวของร้านค้าและธุรกิจที่ใช้ไม้ดอกไม้ประดับ (ร้อยละ 61.94) อันดับ 2 คือ ยอดสั่งซื้อจากลูกค้าต่างจังหวัดลดลง ทำให้รายได้ลดลง (ร้อยละ 55.52) และอันดับ 3 กลุ่มลูกค้าภายในจังหวัด เช่น ที่พัก รีสอร์ทมียอดสั่งซื้อลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการไม่มีนักท่องเที่ยว (ร้อยละ 44.98) ส่วนอีกร้อยละ 19.89 ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีแหล่งจำหน่ายหรือลูกค้าประจำ

     สำหรับการปรับตัวและหาทางออกในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับไม้ดอกไม้ประดับของผู้ประกอบการ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า อันดับ 1 จัดโปรโมชั่นโดยการลดราคา เพื่อกระตุ้นลูกค้า (ร้อยละ 49.58) อันดับ 2 เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าไม้ดอกไม้ประดับในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น (ร้อยละ 27.86) อันดับ 3 จัดทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สวนดอกไม้ (ร้อยละ 23.68) อันดับ 4 เปลี่ยนมาจำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าภายในประเทศมากขึ้น (ร้อยละ 13.54) อันดับ 5 เปลี่ยนมาปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่หายากหรือมีกระแสความต้องการของลูกค้า (ร้อยละ 5.5) จังหวัดเชียงใหม่ชื่อว่าเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นเมืองแห่งดอกไม้บานตลอดปี ดังจะเห็นได้จากการจัดงาน “มหกรรมไม้ดอกไม้ประดับเชียงใหม่” ซึ่งกลายเป็นเทศกาลท่องเที่ยวประจำปีที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมดอกไม้ที่สวยงาม ส่งผลให้เศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่คึกคัก แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับธุรกิจการท่องเที่ยว การจัดประชุมสัมมนา ร่วมถึงเทศกาลท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งปัจจุบันพบว่าผู้ประกอบการหลายรายได้มีการปรับตัวในการประกอบธุรกิจไม้ดอกไม้ประดับ ได้แก่ การปรับกลุ่มลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวภายในประเทศ การลดราคาสินค้าเพื่อจูงใจ รวมถึงการทำ “สวนดอกไม้” เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในรูปแบบใหม่จากเดิมที่เป็นเพื่อตัดดอกขาย ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเดินทางมาเที่ยวชมสวนดอกไม้ ทำให้ให้เกิดแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่สร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการไม้ดอกไม้ประดับและยังช่วยพะยุงเศรษฐกิจของจังหวัfเชียงใหม่ให้กับมาเติบโตอีกครั้งหนึ่ง

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด