ประชาชน ร้อยละ 61.61 โอดค่าครองชีพสูงเกินรายได้ และร้อยละ 71.39 ยึดต้องประหยัดขึ้น ใช้จ่ายแต่จำเป็น

        

เขียนโดย: นายยมนา  ปานันท์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,615 ราย (ภาคเหนือ ร้อยละ 27.99 ภาคกลาง ร้อยละ 24.77 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 36.66 และภาคใต้ ร้อยละ 10.59) ระหว่างวันที่ 4 – 22 มกราคม  2564 ในหัวข้อ “คนไทยกับค่าครองชีพในปัจจุบัน” มีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 61.61 พบว่า มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันในปัจจุบัน  มีเพียงร้อยละ 38.39 เท่านั้นที่บอกมีรายได้เพียงพอกับค่าครองชีพในปัจจุบัน และเมื่อสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในปัจจุบันของประชาชน พบว่า ร้อยละ 71.39 มีการประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากขึ้นโดยซื้อของที่จำเป็นเท่านั้น  ร้อยละ 33.37 ที่มีการหารายได้เสริมจากแหล่งอื่นๆ  มีเพียงร้อยละ 24.64 ที่มีการใช้จ่ายปกติเหมือนเดิม

จากการสอบถามสาเหตุของการมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน พบว่า ร้อยละ 28.42 มีภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายสูง  รองลงมาร้อยละ 25.33 มีรายได้ลดลงจากการลดเงินเดือนของนายจ้าง/บริษัท ร้อยละ 25.08 ราคาสินค้าและบริการปรับตัวสูงขึ้น  ร้อยละ 14.24 มีอาชีพที่มีรายได้ที่ไม่แน่นอน และร้อยละ 6.93 บุคคลในครอบครัวถูกเลิกจ้างงานทำให้รายได้ภายในครอบครัวลดลง

เมื่อสอบถามถึงความต้องการช่วยเหลือจากภาครัฐของประชาชนส่วนใหญ่ พบว่า 1) ต้องการให้มีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานภายในประเทศ  2) ต้องการให้แก้ไขและฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจให้ดีขึ้น  3) ต้องการให้สนับสนุนและช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ  และ 4) ต้องการให้ลดราคาสินค้าและบริการเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด