เขียนโดย: นายชุมพลภัทร์ คงธนจารุอนันท์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,464 ราย ระหว่างวันที่ 19-29 มีนาคม 2564 ในหัวข้อ “กัญชากับทางเลือกในการประกอบอาหารประชาชนคิดเห็นอย่างไร” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในประเด็นที่อนุญาตให้นำกัญชามาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร
ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 68.92 ไม่เห็นด้วยกับภาครัฐที่มีการปลดล็อคให้ประชาชนทั่วไปสามารถจัดหาและนำกัญชามาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร โดยมีเพียง 31.08 ที่เห็นด้วยกับการปลดล็อคในครั้งนี้ และเมื่อสอบถามความวิตกกังวลในการนำกัญชามาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ พบว่า ส่วนใหญ่ ประชาชนกังวลอาจเกิดการลักลอบปลูกกัญชาแบบผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น (ร้อยละ 58.95) รองลงมา กังวลว่ากัญชายังคงเป็นพืชเสพติดให้โทษที่มีฤทธิ์ต่อระบบจิตประสาท (ร้อยละ 46.72) กังวลว่ายังไม่มีมาตราการรองรับหากเกิดการนำกัญชาไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ (ร้อยละ 44.95) กังวลว่าเมื่อกัญชาเป็นที่ต้องการของตลาดจำนวนมากอาจทำให้เกิดกัญชาที่ไม่ได้ผ่านการควบคุมมาลักลอบจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น (ร้อยละ 41.33) กังวลว่าอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน (ร้อยละ 38.39) กังวลว่าอาจทำให้เกิดปัญหาอาชญากรรมเพิ่มมากขึ้นที่เป็นผลมาจากการออกฤทธิ์หรือผลข้างเคียงจากการบริโภคกัญชา (ร้อยละ 37.70) และกังวลว่าอาจเป็นการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ในช่วงวัยต่าง ๆ ในรูปแบบการบริโภคอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น (ร้อยละ 37.50) และเมื่อสอบถามถึงมุมมองของ “กัญชา” ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.64 มองว่ากัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 รองลงมามองว่าเป็นยาสูบประเภทหนึ่งคล้ายบุหรี่ที่คนสมัยก่อนใช้สูบผสมกับยาสูบ (ร้อยละ 31.90) เป็นยารักษาโรค (ทำให้ทานข้าวได้มากขึ้น, แก้ปวดฟัน, แก้อาการผมร่วง,คันหนังศีรษะ) (ร้อยละ 31.28) เป็นส่วนผสมในอาหารบางประเภท (ร้อยละ 30.53) เป็นยาสมุนไพรที่ใช้มาแต่โบราณ (ร้อยละ 29.85) กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ (ร้อยละ 14.34) โดยมีเพียง ร้อยละ 0.20 ที่ไม่รู้จักและเคยเห็นกัญชามาก่อน
ประชาชนยังมีความวิตกกังวลต่อการปลดล็อกกัญชาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร โดยส่วนใหญ่ยังมองว่ากัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งเป็นหน้าที่ของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องออกมาประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับมาตราการการควบคุมและแนวทางการใช้ประโยชน์จากต้นกัญชาที่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และไม่ขัดต่อกฎหมาย อีกทั้งต้องมีมาตราการควบคุมไม่ให้มีการลักลอกปลูกกัญชาแบบผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้กัญชาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศมากกว่าจะเป็นโทษที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศต่อไป