เขียนโดย: นายชุมพลภัทร์ คงธนจารุอนันท์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,639 ราย ระหว่างวันที่ 22 มีนาคม – 1 เมษายน 2564 ในหัวข้อ “กระท่อม..พืชเสพติดสู่พืชสมุนไพร”
มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในประเด็นการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5
ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 81.15 เห็นด้วยกับการปลดล็อก“พืชกระท่อม” ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยมีเพียง 18.85 ที่ไม่เห็นด้วยกับการปลดล็อกในครั้งนี้ และเมื่อสอบถามความวิตกกังวลในการนำกระท่อมมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ พบว่า ส่วนใหญ่ ประชาชนมีความกังวลอาจมีการนำพืชกระท่อมไปเป็นส่วนผสมปรับปรุงสูตรเป็นยาเสพติด (อาทิเช่น ยาแก้ไอ (4X100) เป็นต้น (ร้อยละ 54.73) รองลงมา คือ อาจเกิดการลักลอบปลูกกระท่อมแบบผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น (ร้อยละ 37.28) ใบกระท่อมอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมและเกิดอาชญากรรม (ร้อยละ 29.35) และอาจก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุขหากมีการนำไปใช้อย่างผิดวิธี (ร้อยละ 28.74) ในขณะที่ร้อยละ 21.17 ไม่มีความวิตกกังวล และเมื่อสอบถามถึงมุมมองของ “กระท่อม” ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.33 มองว่ากระท่อมเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้มาแต่โบราณ (สรรพคุณบรรเทาโรคเบาหวาน, เป็นยาแก้โรคบิด, ท้องร่วง และปวดม้วนท้อง) รองลง มามองว่ากระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ร้อยละ 53.51) เป็นพืชที่มีความผูกพันทางวัฒนธรรมทางภาคใต้ (ร้อยละ 41.24) เป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ใบสดและบดใบแห้งเป็นผง (ร้อยละ 39.17) และไม่รู้จักพืชกระท่อม (ร้อยละ 3.48) และเมื่อสอบถามประเด็นที่ประชาชนอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับพืชกระท่อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ประชาชนส่วนใหญ่สนใจในประเด็นมาตรการควบคุมการนำไปใช้ในทางที่ผิดของเด็กและเยาวชนอย่างไร (ร้อยละ 61.74) รองลงมา คือ ปลดล็อกแล้วสามารถปลูกได้เสรีเลยหรือไม่ (ร้อยละ 35.63) พืชกระท่อมมีฤทธิ์อย่างไร เสพติดหรือไม่ (ร้อยละ 35.45) ปลดล็อกแล้วจะส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจอย่างไร (ร้อยละ 33.37) ปลดล็อกแล้วสามารถนำไปทำผลิตภัณฑ์สมุนไพร เช่น ชา ได้หรือไม่ (ร้อยละ 26.17) ปลดล็อกแล้วซื้อขายอย่างเสรีได้หรือไม่ (ร้อยละ 25.26) ปลดล็อกแล้วคนทั่วไปใช้ประโยชน์ได้เลยหรือไม่ ใครที่สามารถนำไปใช้ได้บ้าง (ร้อยละ 22.64) และปลดล็อกแล้ว สามารถนำไปทำอาหารแบบกัญชาได้หรือไม่ (ร้อยละ 22.51)
ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปลดล็อกพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 เพื่อให้สามารถนำพืชกระท่อมมาศึกษาและวิจัยในส่วนของการออกฤทธิ์ในด้านต่าง ๆ ของกระท่อม เช่น บรรเทาอาการปวด บวม ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกระท่อมที่มีประโยชน์มากกว่าโทษหากนำไปใช้อย่างถูกวิธีภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ โดยสามารถนำมาวิจัยและพัฒนานำไปผลิตเป็นส่วนประกอบของยารักษาโรคได้ แต่อย่างไรก็ตามประชาชนส่วนหนึ่งยังคงมีความกังวลต่อการนำพืชกระท่อมไปใช้แบบผิดวัตถุประสงค์ และอาจนำไปสู่การลักลอบปลูกแบบไม่ได้รับอนุญาตและผิดกฎหมายเพื่อนำไปใช้เป็นยาเสพติดได้ ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน รวมถึงมาตรการการควบคุมการนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประเทศต่อไป