โควิด – 19 ทำชาวพุทธ ร้อยละ 38.37 งดเข้าวัดทำบุญ ในขณะที่บางส่วน ลดกิจกรรมทางพุทธศาสนา เช่น การเวียนเทียน ฟังเทศน์/ฟังธรรม ลงจากเดิม

        

เขียนโดย: นายยมนา ปานันท์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,743 ราย ระหว่างวันที่ 10 - 24 พฤษภาคม 2564 ในหัวข้อ
พุทธศาสนา: ความสำคัญและบทบาทต่อสังคมไทย”ในยุคโควิด” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อบทบาทและการปฏิบัติตนในยุคสถานการณ์การแพร่ระบาด
ของโควิด - 19

ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.00 เห็นว่า พระพุทธศาสนายังมีบทบาทความสำคัญต่อสังคมไทยในปัจจุบัน โดย อันดับ 1 (ร้อยละ 57.00) ถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวและพัฒนาจิตใจของประชาชน อันดับ 2 (ร้อยละ 45.71) มีหลักธรรมคำสอนที่สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ อันดับ3 (ร้อยละ 30.97) ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนคุณธรรมและจริยธรรมให้แก่ประชาชน อันดับ 4 (ร้อยละ 23.75) เป็นสถานที่พึ่งพิงและให้การช่วยเหลือประชาชนในยามวิกฤตหรือมีภัยพิบัติ และ อันดับ 5 (ร้อยละ 18.82) โดยมีเพียง ร้อยละ 7.00 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่มีความสำคัญในปัจจุบันแล้ว  

จากการสอบถามถึงการเข้าร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาของคนไทยในปัจจุบัน พบว่า คนไทยส่วนใหญ่จะเลือกทำบุญตักบาตรมากที่สุด (ร้อยละ 97.20) โดยร้อยละ 54.01 ของประชาชนที่ทำบุญตักบาตรมีความถี่ในการทำกิจกรรมลดลง  รองลงมามีการบริจาคเงินและสิ่งของต่างๆ (ร้อยละ 79.37) โดยร้อยละ 51.90 ของประชาชนที่ทำการบริจาคเงินและสิ่งของต่างๆ มีความถี่ในการทำกิจกรรมลดลง อันดับ 3 การถวายอาหารเพล (ร้อยละ 64.70) โดยร้อยละ 67.12 ของประชาชนที่ถวายอาหารเพล มีความถี่ในการทำกิจกรรมที่ลดลง  อันดับ 4 การฟังเทศน์/ฟังธรรม (ร้อยละ 58.42) โดยร้อยละ 60.80 ของประชาชนที่ฟังเทศน์/ฟังธรรม มีความถี่ในการทำกิจกรรมที่ลดลงและ อันดับ 5 การเวียนเทียน (ร้อยละ 56.68) โดย ร้อยละ 74.08 ของประชาชนที่เวียนเทียน มีความถี่ในการทำกิจกรรมลดลง

เมื่อสอบถามถึงผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนา พบว่า ร้อยละ 38.37 งดเว้นการเข้าวัดและทำบุญ เนื่องจากสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจไม่ดี รองลงมา 27.15 เปลี่ยนรูปแบบการฟังเทศน์ และทำบุญ โดยฟังเทศน์ และทำบุญผ่านทางออนไลน์แทน  ร้อยละ 13.43 เปลี่ยนสถานที่ในการทำบุญ โดยไปทำบุญที่อื่นแทนวัด ทั้งนี้ยังมีผู้เข้าวัดทำบุญปกติเหมือนเดิม
ร้อยละ 21.05

จากการสำรวจเห็นได้ว่าถึงแม้ในขณะนี้จะเป็นช่วงการระบาดของไวรัส โควิด – 19 ประชาชนก็ยังให้เล็งเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนาไม่เสื่อมคลาย อาจจะเนื่องมาจากต้องการสิ่งที่ยึดเหนี่ยวและเป็นที่พึ่งทางจิตใจในยามสถานการณ์ของบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ แต่อาจจะต้องมีการลดการทำกิจกรรมต่างๆ ทางพุทธศาสนาลง เพื่อทำตามนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้ลดการรวมกลุ่ม เพื่อลดการติดเชื้อระหว่างบุคคล หันไปทำกิจกรรมอื่นๆที่สามารถเข้าร่วมได้แทน อย่างไรก็ตามเมืองไทยของเราเรียกได้ว่าเป็นเมืองแห่งพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้คนนับถือมากที่สุดในประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่พุทธศาสนิกชนอย่างพวกเราจะต้องยึดถือตามหลักธรรม คำสั่งสอน และทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของเราให้ดำรงสืบไป  ซึ่งจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  แต่หากในอนาคตสถานการณ์โควิด – 19 มีทิศทางการระบาดที่ลดลงหรือหายไปจากประเทศไทยแล้ว  เชื่อได้ว่าพุทธศาสนิกชนทั้งหลายคงหันกลับมาทำกิจกรรมเข้าวัดทำบุญ ส่งเสริม บำรุงพุทธศาสนาให้ดีขึ้นดังเดิมอย่างแน่นอน

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด