ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 417 ราย ระหว่างวันที่ 15-21 มิถุนายน 2564 ในหัวข้อ Food Delivery .. คนเชียงใหม่กับพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารที่เปลี่ยนไป มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวเชียงใหม่ต่อพฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19
ผลการสำรวจพบว่า ในช่วงของการแพร่ระบาด Covid-19 ระลอกใหม่นั้นได้ส่งผลให้คนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.69 มีพฤติกรรมการใช้บริการ Food Delivery ที่เพิ่มสูงขึ้น โดยมีการใช้บริการลดลงเพียงร้อยละ 10.31 เท่านั้น โดยสาเหตุที่ใช้บริการ Food Delivery ลดลงนั้นมีปัจจัยมาจากการสั่งผ่าน Food Delivery ราคาแพงกว่านั่งทานที่ร้าน ร้อยละ 27.91 รองลงมา ต้องการประหยัดค่าครองชีพ ร้อยละ 23.26 ปริมาณอาหารที่ลดลง ร้อยละ 18.60 ไม่มั่นใจในความสะอาดของ Food Delivery ร้อยละ 16.28 และสินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ ร้อยละ 13.95 เมื่อสอบถามถึงความถี่ในการใช้บริการ Food Delivery ต่อสัปดาห์ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 22.54 ใช้บริการเป็นประจำทุกวัน รองลงมา คือ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 15.11) 2 ครั้งต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 14.87) 1 ครั้งต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 12.95) 6 ครั้งต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 12.47) 5 ครั้งต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 11.27) และ 4 ครั้งต่อสัปดาห์ (ร้อยละ 10.79) ตามลำดับ และเมื่อสอบถามถึงช่องทางการใช้บริการ Food Delivery พบว่า อันดับ 1 นิยมใช้ Food Panda (ร้อยละ 63.95) รองลงมาอันดับ 2 ใช้ Grab Food (ร้อยละ 36.05) อันดับ 3 ใช้ LINE MAN (ร้อยละ 26.86) อันดับ 4 ใช้ Pintogogo (ร้อยละ 21.82) อันดับ 5 ใช้ Food Delivery ของทางร้านอาหารโดยตรง (อาทิ PizzaHut, KFC, 7-ELEVEN, โอ้กะจู๋, VT แหนมเนือง เป็นต้น) อันดับ 6 ใช้ Busy Rabbit (ร้อยละ 1.20) และอันดับ 7 ใช้ Ant Delivery (ร้อยละ 0.72) และเมื่อสอบถามถึงปัจจัยที่ทำให้เลือกใช้บริการ Food Delivery พบว่าเลือกใช้บริการเนื่องจากช่องทางการให้บริการสะดวกสบายมากที่สุด (ร้อยละ 74.58) รองลงมา คือ ช่วยลดเวลาในการเดินทาง (ร้อยละ 60.91) ช่วยลดความหนาแน่นและความเสี่ยงการแพร่ระบาด Covid-19 (ร้อยละ 58.03) และเนื่องจากโปรโมชั่นที่น่าสนใจของทางร้านและ Food Delivery (ร้อยละ 36.69)
สถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันส่งผลให้พฤติกรรมการเลือกซื้ออาหารของคนเชียงใหม่นั้นเปลี่ยนไป โดยที่เน้นความสะดวกสบายและลดระยะเวลาในการเดินทางเพื่อไปรับประทานอาหาร และเลือกซื้ออาหารจากตามร้าน โดย Food Delivery ถือว่าเป็นธุรกิจบริการทางเลือกใหม่สำหรับคนเชียงใหม่ที่อำนวยความสะดวกในการเลือกซื้ออาหารภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 ในปัจจุบันที่ไม่มีทีท่าที่จะควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจากยอดผู้ติดเชื้อรวมทั้งประเทศ 225,365 ราย (แหล่งที่มา: ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) วันที่ 22 มิถุนายน 2564 เวลา 12.30 น.) ที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้นและไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดในวงกว้างได้ ทำให้คนเชียงใหม่ยังคงต้องใช้ชีวิตแบบวิถี New Normal กันต่อไป