ประชาชน ร้อยละ 83.84 กังวลการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ หากล็อคดาวน์จะได้รับผลกระทบจากการกักตุนสินค้าอาหาร สินค้าขาดตลาด และราคาปรับสูงขึ้น

        

เขียนโดย: นางสาวเบญจวรรณ  จันทร์แก้ว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น  1,127 ราย ระหว่างวันที่ 8 พฤศจิกายน –27ธันวาคม 2563  ในหัวข้อ ความพร้อมต่อด้านความมั่นคงทางอาหาร..จากวิกฤติโควิด-19 มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่และความพร้อมต่อความมั่นคงทางอาหารจากวิกฤติโควิด-19 ดังกล่าว

ผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 83.84 วิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศ โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้รับวัคซีนเพื่อป้องกันโรค รวมถึงประชาชนป้องกันตัวเองลดลงและขาดความมั่นใจต่อมาตรการป้องกันและควบคุมของหน่วยงานภาครัฐ ส่วนอีกร้อยละ 16.16 ไม่วิตกกังวล เนื่องจากมีการป้องกันตนเองอย่างดีและปฏิบัติตามคำแนะนำของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

และหากมีการล็อคดาวน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประชาชนจะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนอาหารหรือไม่ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 79.72 คิดว่าจะได้รับผลกระทบด้านอาหาร โดยอันดับ 1 จะเกิดการกักตุนสินค้าอาหาร ทำให้สินค้าอาหารบางรายการขาดตลาด เช่น ไข่ไก่ เป็นต้น (ร้อยละ 58.01) อันดับ 2 ราคาสินค้าอาหารบางรายการปรับราคาสูงขึ้น ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น (ร้อยละ 56.86) อันดับ 3 การจำกัดการเดินทางขนส่งและการปิดให้บริการทำให้ไม่สามารถซื้อสินค้าอาหารได้ (ร้อยละ 48.48) ส่วนอีกร้อยละ 20.28 คิดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ โดยให้เหตุผลว่า เป็นพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดและอยู่ในพื้นที่ชนบทที่มีอาหารเพียงพอ

สำหรับความคิดเห็นต่อความพร้อมในด้านความมั่นคงอาหารของประชาชน หากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.66 มีการเตรียมความพร้อม ได้แก่อันดับ 1 มีการซื้อสินค้าประเภทอาหารไว้ประจำในครอบครัว (ร้อยละ 66.21) อันดับ 2 ได้แก่ มีการทำพื้นที่เกษตรเพื่อปลูกผักและผลิตอาหารภายในครอบครัว (ร้อยละ 59.44) อันดับ 3 ได้แก่ มีการเตรียมสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อสินค้าประเภทอาหารไว้เมื่อฉุกเฉิน (ร้อยละ 55.92) ส่วนอีกร้อยละ 26.34 ไม่ได้เตรียมพร้อม โดยให้เหตุผลว่า ไม่มีเงินสำรองในการเตรียมซื้อสินค้าประเภทอาหาร

แม้ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับคำชื่นชมจากนานาประเทศถึงประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ทั้งด้านการท่องเที่ยวและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงความวิตกกังวลต่อความมั่นคงทางอาหารของประชาชนภายในประเทศ เช่น สินค้าประเภทอาหารขาดตลาด รวมถึงประชาชนบางกลุ่มไม่มีความสามารถในการซื้อสินค้าอาหารได้ อันเกิดจากประสบปัญหาขาดแคลนรายได้ ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ใหญ่ให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อมาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อติดตามให้การช่วยเหลือประชาชน เช่น การจัดหาสินค้าที่จำเป็นเพื่อมาจำหน่ายให้แก่ประชาชนอย่างเพียงพอ รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาต่อกลุ่มที่ไม่สามารถช่วยตนเองได้ เป็นต้น

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด