ตลาดเกษตรออนไลน์ยังไม่พุ่ง คนไทยร้อยละ 70.58 บอกยังไม่เคยซื้อ เหตุยังสามารถเลือกซื้อได้ตามปกติและไม่มั่นใจในคุณภาพของสินค้า

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,591 ราย ระหว่างวันที่ 24 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม  2564 ในหัวข้อ“โควิด-19 กับตลาดสินค้าเกษตรยุคดิจิทัล”มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความสนใจของประชาชนทั่วประเทศต่อการซื้อสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.58 ไม่เคยซื้อสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก สามารถใช้จ่ายเลือกซื้อสินค้าเองที่ตลาดสดและร้านค้าสะดวกซื้อได้ตามปกติ มากที่สุด (ร้อยละ 50.65) มีประชาชนร้อยละ 29.42 ที่เคยซื้อสินค้าเกษตรแบบออนไลน์ โดยสินค้าที่ประชาชนนิยมซื้อ มากที่สุด คือ ผักผลไม้ เช่น ผักกาด ผักสลัด อะโวคาโด ทุเรียน มะม่วง (ร้อยละ 50.21) โดยช่องทางที่ประชาชนใช้เลือกซื้อสินค้าเกษตรผ่านตลาดออนไลน์ คือ มากที่สุด คือ ทางสื่อสังคมออนไลน์เฟสบุ๊ค(Facebook) (ร้อยละ 88.39) ทั้งนี้ประชาชนพบปัญหาและอุปสรรคต่อการซื้อสินค้าเกษตรผ่านตลาดออนไลน์ 1) ราคาสินค้าที่สูงกว่าราคาท้องตลาดทั่วไป และ 2) การขนส่งสินค้าที่ล่าช้าทำให้สินค้าเกิดความเสียหาย โดยประชาชนทั่วไปมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงการขายสินค้าเกษตรผ่านตลาดออนไลน์ 1) คุณภาพของสินค้าควรตรงตามที่โฆษณา 2) ควรจัดโปรโมชั่นของสินค้าที่ขายบนสื่อออนไลน์ 3) ร้านค้าควรมีความรับผิดชอบและไม่หลอกลวงผู้บริโภค และ 4) ควรมีการโฆษณาสินค้าเพื่อเพิ่มช่องทางให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี 2562 ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ และ วิถีชีวิตของประชาชนเป็นวงกว้าง ในหลายๆ ธุรกิจมีการชะลอตัวและปิดตัวลง ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและ เศรษฐกิจในภาพรวมเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันในด้านของธุรกิจการขายออนไลน์สามารถเติบโตได้มาก ในปัจจุบันการขายสินค้าในระบบออนไลน์นั้นถือว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้ร้านค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามจากสภาพสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะของสินค้าเกษตรทำให้ผลการสำรวจพบว่ามีผู้ใช้บริการซื้อสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ไม่มากนักเนื่องจากผู้บริโภคมักพบเจอปัญหาในคุณภาพของสินค้าที่มักเกิดความเสียหายจากการขนส่งที่ล่าช้าหรือคุณภาพของสินค้าที่ไม่ตรงตามคุณลักษณะที่ร้านค้าหรือผู้ขายได้ระบุไว้ จึงควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอยตรวจสอบคุณภาพของสินค้า และ มีการรับรองในคุณภาพของสินค้าจากผู้ขายไปจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภคเพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพของสินค้าให้แก่ผู้บริโภคต่อไปในอนาคต

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด