คนไทยร้อยละ 80.19 เห็นด้วยที่รัฐผลักดันกัญชงออกจากบัญชียาเสพติด และร้อยละ 50.36 บอกไม่กังวลหากจะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และอุตสาหกรรมสิ่งทอ

        

เขียนโดย: นายชุมพลภัทร์  คงธนจารุอนันต์

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,398 ราย ระหว่างวันที่ 10 – 23 กรกฎาคม 2564 ในหัวข้อ “กัญชง..พืชเศรษฐกิจตัวใหม่” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปในประเด็นการนำพืชกัญชงซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มาใช้ประโยชน์ในเชิงการแพทย์และอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.33 มีมุมมองที่มีต่อ กัญชง มองว่าเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้มาแต่โบราณ รองลงมา เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (ร้อยละ 54.58) เป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ (ร้อยละ 34.41) เป็นพืชที่สามารถนำเส้นใยจากลำต้นมาทำเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ (ร้อยละ 20.46) และเป็นพืชที่มีความผูกพันทางวัฒนธรรมกับชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (ร้อยละ 19.46) โดยเมื่อสอบถามถึงการปลดล็อกพืชกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.19 เห็นด้วยกับการปลดล็อก โดยมีเพียง 19.81 ที่ไม่เห็นด้วยกับการปลดล็อกในครั้งนี้ และเมื่อสอบถามความวิตกกังวลในการนำกัญชงมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.36 ไม่มีความวิตกกังวล ในขณะที่ ร้อยละ 49.64 ยังมีความวิตกกังวล โดยมีความวิตกกังวลว่า กัญชงยังคงเป็นพืชเสพติดให้โทษที่มีฤทธิ์ต่อระบบจิตประสาท (ร้อยละ 83.29) วิตกกังวลว่ายังไม่มีมาตรการรองรับหากเกิดการนำกัญชงไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ (ร้อยละ 61.24) และวิตกกังวลว่าอาจเกิดการลักลอบปลูกกัญชงแบบผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น (ร้อยละ 59.94)  

จากการสำรวจข้อมูลเห็นได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีการรับรู้และเข้าใจถึงพืชกัญชงซึ่งหมายถึงพืชที่เป็นสมุนไรที่นำมาใช้ตั้งแต่โบราณ โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปลดล็อกพืชกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 เพื่อให้สามารถนำมาศึกษาและวิจัยในส่วนของการออกฤทธิ์ในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงการนำเส้นใยจากลำต้นมาเป็นวัตถุดิบการทำเครื่องนุ่งห่มในเชิงอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกัญชงที่มีประโยชน์มากกว่าโทษหากนำไปใช้อย่างถูกวิธีภายใต้การดูแลจากผู้เชี่ยวชาญ แต่อย่างไรก็ตามประชาชนบางส่วนยังคงมีความกังวลต่อการนำพืชกัญชงไปใช้แบบผิดวัตถุประสงค์ และอาจนำไปสู่การลักลอบปลูกแบบไม่ได้รับอนุญาตและผิดกฎหมายเพื่อนำไปใช้เป็นยาเสพติดได้ ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และมีการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงรวมถึงมาตรการควบคุม
การนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนต่อไป

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด