เขียนโดย : นางสาวเบญจวรรณ จันทร์แก้ว
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ในพื้นที่ 5 จังหวัดที่ปลูกลำไยสูงสุดของประเทศไทย (ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยาและจันทบุรี) จำนวน 523 ราย ระหว่างวันที่ 15 – 27 กรกฏาคม 2564 ในหัวข้อ “ลำไยปี 64 เป็นอย่างไร…ภายใต้สถานการณ์โควิด-19” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นต่อสถานการณ์ด้านการผลิตและการตลาดลำไย ปี 2564
ผลการสำรวจความคิดเห็นต่อปริมาณผลผลิตลำไยในปี 2564 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 42.58 คาดว่าผลผลิตจะเท่าเดิม เนื่องจากมีการดูแลและบำรุงเหมือนปีที่ผ่านมา ส่วนอีกร้อยละ 32.18 บอกว่าจะมีผลผลิตลดลง โดยมีเพียงร้อยละ 25.24 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ส่วนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ราคาลำไยปี 2564 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ราคาน่าจะลดลง ร้อยละ 48.25 โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังมีความรุนแรงอยู่ อาจส่งผลกระทบต่อการขนส่งและส่งออกสินค้าลำไยได้ มีเพียงร้อยละ 7.59 คิดว่าราคาน่าจะสูงขึ้น โดยให้เหตุผลว่าลำไยยังคงเป็นสินค้าที่มีความต้องการของตลาด ในขณะที่ร้อยละ 44.16 ยังไม่แน่ใจ โดยให้เหตุผลว่าขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ว่าจะมีผลกระทบหรือไม่
เมื่อสอบถามถึงการคาดการณ์ราคาลำไยปี 2564 พบว่า ราคาขายแบบลำไยร่วง ขนาด AA ราคาเฉลี่ย 20 บาท/กก. ขนาด A ราคาเฉลี่ย 15 บาท/กก. และขนาด B ราคาเฉลี่ย 7 บาท/กก. สำหรับราคาขายแบบลำไยตะกร้า พบว่า ราคาเฉลี่ย 30 บาท/กก. ด้านข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการแก้ไขสถานการณ์ราคาลำไย พบว่า ควรส่งเสริมให้เกษตรกรมีการผลิตลำไยคุณภาพอย่างจริงจังและแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้มากขึ้น (ร้อยละ 85.94) รองลงมาคือควรพัฒนาและส่งเสริม ตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ให้แก่เกษตรกรเพื่อสามารถกระจายผลผลิตได้เอง (ร้อยละ 80.08) และควรส่งเสริมการบริโภคลำไยภายในประเทศให้มากขึ้น (ร้อยละ 75.98)
การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยเฉพาะการค้าขายผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งเป็นรายได้หลักของประชาชนในประเทศ จากผลการสำรวจที่ทำให้เห็นว่าเกษตรกรชาวสวนลำไยมีความวิตกกังวลว่าราคาลำไยปีนี้น่าจะตกต่ำ เนื่องจากการกระจายผลผลิตลำไยเพื่อส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ประกอบกับมาตรการการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทุกพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานในการเก็บลำไยในฤดูของพื้นที่ภาคเหนือในช่วงนี้ ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดเชียงใหมได้มีมาตรการ ได้แก่ การลงทะเบียนแรงงานที่จะรับจ้างเก็บลำไย การตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และกำหนดให้รับจ้างเก็บลำไยในพื้นที่ โดยหากจะมีการเคลื่อนย้ายต้องแจ้งหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ รวมถึงต้องมีการจัดหาอุปกรณ์วัดไข้ เจลแอลกอฮอล์ รวมถึงการเฝ้าระวังผู้รับจ้างไม่ให้มีการใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกัน ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ความเข้าใจต่อมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ต่อทั้งเจ้าของสวนลำไยและแรงงานรับจ้างเก็บลำไย เพื่อให้การเก็บเกี่ยวผลผลิตลำไยในฤดูของภาคเหนือในปีนี้ สามารถช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยสามารถกระจายผลผลิตได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อป้องกันปัญหาราคาลำไยตกต่ำ ลดความเดือดร้อนให้แก่ทั้งชาวสวนลำไยและแรงงานรับจ้างเก็บลำไยได้