เขียนโดย: นายชุมพลภัทร์ คงธนาจารุอนันต์
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 688 ราย ระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2564 ในหัวข้อ อนาคตชาวนาไทย..กับทางออกในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากทั่วประเทศ ในประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ผลการสำรวจพบว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่ประสบปัญหาความเดือดร้อนจากการเพาะปลูกข้าวกว่าร้อยละ 96.08 โดยมีเพียงร้อยละ 3.92 ที่ไม่มีปัญหา เมื่อสอบถามต้นเหตุของปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พบว่า อันดับ 1 สาเหตุมาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น อาทิ ปุ๋ย ยา ค่าแรงงาน เมล็ดพันธุ์ ที่มีราคาสูงขึ้น (ร้อยละ 87.65) รองลงมาอันดับที่ 2 ประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยในช่วงการผลิต (ร้อยละ 48.69) อันดับ 3 กลไกตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพ (ร้อยละ 46.66) อันดับ 4 พืช “ข้าว” กลายเป็นพืชการเมือง (ร้อยละ 42.88) และเมื่อสอบถามถึงข้อเสนอแนะต่อภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น พบว่า อันดับ 1 เสนอให้รัฐบาลควรลงพื้นที่รับฟังข้อมูลและเข้าถึงปัญหาของชาวนาโดยตรงไม่ต้องผ่านตัวแทน (ร้อยละ 83.14) รองลงมาอันดับ 2 เสนอให้รัฐบาลควรส่งเสริมให้หน่วยงานราชการในพื้นที่แต่ละจังหวัดสามารถซื้อข้าวจากชาวนาได้โดยตรง (ร้อยละ 68.60) อันดับ 3 เสนอให้รัฐบาลควรสนับสนุนอาชีพชาวนาโดยการลงทุน รถเกี่ยวข้าว สร้างลานตากข้าว รวมถึงมีโรงสีชุมชนที่สามารถบรรจุหีบห่อและมีช่องทางการจัดจำหน่ายในแต่ละพื้นที่ของจังหวัด (ร้อยละ 59.74) และอันดับ 4 เสนอให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสนใจแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอย่างจริงจัง (ร้อยละ 51.74)
ประเทศไทยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการปลูกข้าวมาตั้งแต่สมัยโบราณ อาชีพเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งในอดีตเคยถูกยกย่องให้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ โดยเป็นผู้ที่ผลิตอาหารเลี้ยงมวลมนุษยชาติมาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันนี้พบว่า อาชีพเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ประสบกับปัญหาความเดือดร้อนจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือ ปัญหาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอีกทั้งประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยในช่วงฤดูกาลผลิต และกลไกตลาดของข้าวยังไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรลงพื้นที่รับฟังข้อมูลความต้องการและปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโดยตรงไม่ต้องผ่านตัวแทน รวมไปถึงการออกนโยบายให้หน่วยงานราชการในระดับพื้นที่สามารถรับซื้อข้าวจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้โดยตรง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรในระดับรากหญ้ามีโอกาสทางด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แต่ในระยะที่ผ่านมา เกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังรับผลกระทบประสบปัญหากับความยากจนมาจนถึงปัจจุบันซึ่งเป็นโจทย์ที่สำคัญให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง