คนเชียงใหม่ ร้อยละ 92.20 โอดปิดตลาดค้าส่งผักที่ผ่านมา ทำราคาสินค้าพุ่งกระทบความมั่นคงด้านอาหาร และร้อย 79.08 ย้ำรัฐฯควรเข้มงวดคัดกรองให้มากขึ้นเพื่อป้องกันการเกิดซ้ำ

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนชาวเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 459 ราย ระหว่างวันที่ 28 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน 2564  ในหัวข้อ “โควิด กับความมั่นคงด้านอาหารของคนเชียงใหม่” มีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามประชาชนชาวเชียงใหม่ต่อผลกระทบจากการปิดตลาดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดการระบาดของโควิด – 19 รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการปรับตัวในสถานการณ์ปัจจุบัน ผลการสำรวจดังต่อไปนี้

จากการสอบถามประชาชนชาวเชียงใหม่ต่อการปิดตลาดเมืองใหม่ในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ร้อยละ 97.39 ทราบว่ามีการปิดตลาดเมืองใหม่จากการแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด – 19  มีเพียงร้อยละ 2.61 เท่านั้นที่ยังไม่ทราบ เมื่อสอบถามความคิดเห็นถึงผลกระทบของราคาสินค้าทางการเกษตรจากการปิดตลาดเมืองใหม่และตลาดอื่นๆที่เกิดการแพร่ระบาดของ โควิด – 19 ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.20 เห็นว่าราคาสินค้าทางการเกษตรมีการปรับราคาสูงขึ้น  มีเพียงร้อยละ 7.80 เท่านั้นที่เห็นว่าราคาสินค้าทางการเกษตรนั้น ไม่ได้มีการปรับราคาสูงขึ้นแต่อย่างใด โดยในส่วนของสินค้าเกษตรที่มีการปรับราคาสูงขึ้นนั้นประชาชนร้อยละ 71.16 นั้น เห็นว่าสินค้าทางการเกษตรหาซื้อได้ยากขึ้น ร้อยละ 28.84 เห็นว่ายังคงหาซื้อสินค้าทางการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้ ได้เหมือนเดิม  และเมื่อสอบถามผลกระทบต่อปริมาณสินค้าทางการเกษตรหลังการปิดตลาดเมืองใหม่ในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 91.07 ได้รับผลกระทบ โดย อันดับ 1 ร้อยละ 78.55 ได้รับผลกระทบจากการขาดวัตถุดิบในการประกอบอาหาร/หาซื้อยากมากขึ้น  อันดับ 2 ร้อยละ 75.84 ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรต่างๆปรับราคาสูงขึ้น และอันดับ 3 ร้อยละ 45.45 ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงของผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นของราคาวัตถุดิบที่นำมาประกอบอาหารเพื่อจำหน่าย  มีเพียงร้อยละ 8.93 เท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบ

จากการสอบถามวิธีการปรับตัวจากการปรับราคาของสินค้าทางการเกษตร พบว่า ร้อยละ 81.13 มีการปรับตัว โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 57.14 ใช้วิธีการประหยัดมากขึ้น โดยเลือกซื้อเฉพาะสิ่งที่จำเป็น รองลงมาร้อยละ 22.86 มีการปลูกผักไว้บริโภคในครัวเรือน และร้อยละ 20.00 หาซื้อสินค้าทางการเกษตร เช่น ผัก ผลไม้จากเกษตรกรหรือแหล่งผลิตโดยตรง ขณะที่ร้อยละ 18.87 ไม่ได้มีการปรับตัวแต่อย่างใด

และเมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวทางป้องกันและแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการปิดตลาดในช่วงการระบาดของโรคโควิด – 19 พบว่าอันดับ 1 ร้อยละ 79.08 เห็นว่าควรมีมาตรการการคัดกรองที่เข้มงวดทั้งตัวผู้จำหน่ายและผู้บริโภค ที่เข้ามายังสถานที่จำหน่ายสินค้าต่างๆให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจและป้องกันปัญหาการระบาดของโรคที่จะส่งผลให้ต้องปิดสถานที่จำหน่ายสินค้า อันดับ 2 ร้อยละ 76.03 ควรจัดสถานที่จำหน่ายสินค้าสำรอง (ตลาดปลอดภัย) เพื่อเป็นจุดจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ และอันดับ 3 ร้อยละ 63.40 ควรออกมาตรการควบคุมราคาสินค้าเกษตรเพื่อป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาและกักตุนสินค้า

จากการสำรวจดังกล่าว เห็นได้ว่าการปิดสถานที่จำหน่ายสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะ ตลาดเมืองใหม่ที่เป็นตลาดหลักในการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ทั้งตัวเกษตรกรไม่มีสถานที่ในการจำหน่ายสินค้า ส่งผลให้พ่อค้าแม่ขายขาดรายได้จากการปิดตลาด ในขณะที่ผู้ประกอบการอาหารก็มีต้นทุนสูงขึ้นจากการปรับราคาของวัตถุดิบ รวมทั้งผู้บริโภคที่ต้องแบกรับกับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นและหาซื้อสินค้าทางการเกษตรยากมากขึ้น  เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ภาครัฐควรจะต้องมีการวางแผนการรับมือ เพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรอง และจัดทำตลาดสำรองที่ปลอดภัยเพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้ทุกกลุ่ม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนและสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของจังหวัดเชียงใหม่ต่อสถานการณ์โควิด – 19 ในปัจจุบัน

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด