คนไทย ร้อยละ 55.70 บอกภาครัฐบกพร่องในการบริหารจัดการน้ำ และร้อยละ 59.27 วอนรัฐต้องบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบมากขึ้น

        

         ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,797 ราย ระหว่างวันที่ 5 – 17 พฤศจิกายน 2564 ในหัวข้อ ความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาและการรับมือน้ำท่วมของภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปจากทั่วประเทศต่อการแก้ปัญหาและการรับมือน้ำท่วมของภาครัฐ

          ผลการสำรวจพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประชาชนเคยประสบปัญหาน้ำท่วมกว่าร้อยละ 53.70 โดยมีเพียงร้อยละ 46.30 ที่ไม่เคยประสบปัญหา เมื่อสอบถามถึงความถี่ต่อการประสบปัญหาน้ำท่วมในรอบ 10 ปี ส่วนใหญ่ประสบปัญหาไม่เกิน 3 ครั้ง (ร้อยละ 73.44) รองลงมา 4-6 ครั้ง (ร้อยละ 15.38) และ 7 ครั้งขึ้นไป (ร้อยละ 11.18) เมื่อสอบถามสาเหตุของการเกิดน้ำท่วมในประเทศไทยพบว่า อันดับ 1 เกิดจากมีปริมาณน้ำฝนมากเนื่องจากฝนตกหนัก (ร้อยละ 63.01) อันดับที่ 2 เกิดจากการขยายตัวของเขตชุมชนเมืองส่งผลให้กีดขวางระบบการระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติ (ร้อยละ 52.00) อันดับที่ 3 เกิดจากการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าและบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 50.50) อันดับที่ 4 เกิดจากการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐล้มเหลว (ร้อยละ 47.16) อันดับที่ 5 เกิดจากภูมิประเทศของประทศไทยเป็นที่ลุ่มที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำที่สำคัญหลายสาย (ร้อยละ 39.77) และอันดับที่ 6 เกิดจากสภาพพื้นที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก (ร้อยละ 37.32) และเมื่อสอบถามถึงประเด็นความเชื่อมั่นต่อโครงสร้าง ความมั่นคง แข็งแรง ของเขื่อนที่สำคัญในประเทศไทยโดยประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 58.76 มีความเชื่อมั่นต่อโครงสร้างความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อน ในขณะที่อีกร้อยละ 42.24 ยังมีความกังวลไม่เชื่อมั่น และเมื่อสอบถามถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำท่วมของภาครัฐซึ่งประชาชนร้อยละ 55.70 คิดเห็นว่าภาครัฐยังบริหารจัดการได้ยังไม่มีประสิทธิภาพ อีกร้อยละ 44.30 เห็นว่าการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ  และเมื่อสอบถามถึงข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการในการรับมือน้ำท่วมของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพ พบว่า 1) เสนอให้หน่วยงานภาครัฐต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ 2) เสนอให้ควรมีการศึกษาและสร้างเขื่อนหรือฝายชะลอน้ำเพิ่มเติมในพื้นที่ต้นน้ำ 3) เสนอให้ควรมีการบรูณาการในการเฝ้าระวังเพื่อเตรียมความพร้อมหากมีปริมาณน้ำฝนสะสม และ4)เสนอให้ควรมีจัดการบริหารเรื่องการระบายน้ำกับทุกเขื่อนในประเทศไทยสม่ำเสมอ        

          “น้ำ” เป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญสำหรับการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตและเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย แต่ทว่าในปัจจุบันสภาพอากาศของโลกมีความแปรปรวนเป็นอย่างมากส่งผลที่ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทยเกือบทุกๆปีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากมีปริมาณน้ำฝนมากเนื่องจากฝนตกหนัก และการขยายตัวของเขตชุมชนเมือง ส่งผลให้ระบบการระบายน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติไม่สามารถช่วยระบายน้ำที่มีปริมาณมากได้ โดยสถานการณ์ดังกล่าวเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการศึกษาการบริหารจัดการน้ำในอดีตเพื่อนำมาวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ความมั่นคงด้านการบริหารจัดการปริมาณน้ำของไทยในระดับจังหวัดและระดับลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด