คนเชียงใหม่ส่วนใหญ่ร้อยละ 73.43 ไม่ได้วางแผน การท่องเที่ยว ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 และอันดับ 1 ร้อยละ 70.56 คาดหวังให้มีสภาพการเงินที่ดีขึ้น

        

          ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 415 ราย ระหว่าง
วันที่ 19-27 ธันวาคม 2564 ในหัวข้อ พฤติกรรมในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 ของคนเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสอบถามพฤติกรรมและการวางแผนของคนเชียงใหม่ต่อเทศกาลปีใหม่ 2565 ผลการสำรวจความคิดเห็น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.43 ไม่ได้มีการวางแผนการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 เนื่องจาก อันดับ 1 ร้อยละ 62.83 กังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 อันดับ 2 ร้อยละ 34.54 ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย อันดับ 3 ร้อยละ 30.92 ไม่ต้องการเดินทางเข้าไป ในสถานที่ที่แออัด ปริมาณคนเยอะ หรือมีการจราจรติดขัด มีเพียงร้อยละ 26.57 เท่านั้นมีการวางแผนการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565  โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.84 จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ เช่น ภายในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง ร้อยละ 86.32 รองลงมาภาคกลาง เช่น กรุงเทพฯ ร้อยละ 7.32 ภาคใต้ เช่นจังหวัดภูเก็ต ฯลฯ ร้อยละ 5.31 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 1.05 มีเพียงร้อยละ 3.16 เท่านั้นที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศ

          สำหรับการวางแผนการใช้จ่ายในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ 2565 ระหว่างวันที่ 31 ธันวาคม 2564 – 3 มกราคม 2565 พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 80.57 มีการวางแผนการใช้จ่ายไม่เกิน 10,000 บาท รองลงมา ร้อยละ 9.43 มีการวางแผนการใช้จ่ายระหว่าง 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 4.91 มีการวางแผนการใช้จ่ายระหว่าง 15,001-20,000 บาท และ มากกว่า 20,000 บาท ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้านของกิจกรรมที่ต้องการจะทำในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 87.97 ทำกิจกรรมภายในครอบครัว เช่น ทำบุญตักบาตร เข้าวัดสวดมนต์ข้ามปีหรือพิธีกรรมทางศาสนา อันดับ 2 ร้อยละ 57.14  จัดงานเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างครอบครัวและเพื่อนฝูง อันดับ 3 ร้อยละ 31.96 การส่งของขวัญ/คำอวยพรปีใหม่ผ่านทางแอพพลิเคชั่น เมื่อสอบถามความคาดหวังของประชาชนในปีใหม่ 2565 พบว่า ร้อยละ 90.84 มีความคาดหวัง โดย อันดับ 1 ร้อยละ 70.56 มีความคาดหวังด้านรายได้การเงินที่ดีขึ้น อันดับ 2 ร้อยละ 66.05 มีความคาดหวังด้านสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น และอันดับ 3 ร้อยละ 63.93 คาดหวังด้านอาชีพการงานที่ดีขึ้น มีเพียงร้อยละ 9.16 เท่านั้นที่ไม่ได้คาดหวังในช่วงปีใหม่ 2565 และจากการสอบถามถึงของขวัญที่ต้องการจากรัฐบาลนั้น พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 75.66  ต้องการให้มีโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เป็นต้น อันดับ 2 ร้อยละ 50.12 มีโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยว เช่น โครงการช็อปดีมีคืน โครงการเราเที่ยวด้วยกัน อันดับ 3 ร้อยละ 31.33 โครงการอื่นๆ เช่น การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 

          เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ของทุก ๆ ปี ถือได้ว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุขส่งท้ายปีที่ทุกคนจะมีการทำกิจกรรมร่วมกัน ทั้งกิจกรรมเข้าวัด ตักบาตร ทำบุญ ขอพรจากผู้ใหญ่เพื่อให้เป็นศิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว การเฉลิมฉลองกับครอบครัว และเพื่อนฝูง และการเดินทางท่องเที่ยวไปในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงมีการจัดกิจกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นประชาชนทุกคนต้องการปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดนำเชื้อเข้ามาสู่ตัวเอง ครอบครัวและคนรอบข้าง อย่างไรก็ตามภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ควรมีการรณรงค์ทั้งในเรื่อง การระมัดระวัง ตามมาตรการของโควิด-19 รวมทั้ง เข้มงวดในเรื่องการจราจร และการเดินทางให้ปลอดภัยในช่วงเทศกาล เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายและการสูญเสีย และให้เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2565 นี้ เป็นเทศกาลแห่งรอยยิ้มและความสุขของคนไทยต่อไป

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด