เกษตรกรเข้าถึงการใช้เทคโนลีและนวัตกรรม ร้อยละ 64.99 ติดปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ร้อยละ 43.43

        

เขียนโดย: นายธีรดนย์  ขันตา

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรด้านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรของเกษตรกรไทย จำนวน 677 ราย ระหว่างวันที่ 12 – 25 เมษายน 2565 ในหัวข้อ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรของเกษตรกรไทย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ ต่อการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรในปัจจุบัน  

ผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.99 เคยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร โดย อันดับ 1 (ร้อยละ 40.92) เคยใช้เครื่องจักรกลเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์, โดรนการเกษตร อันดับ 2 (ร้อยละ 30.28) เคยใช้เทคโนโลยีด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสมเช่น การยืดอายุและการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร อันดับ 3 (ร้อยละ 24.22) เคยใช้เทคโนโลยีทางชีวภาพ เช่นการปรับปรุงสายพันธุ์ ทำปุ๋ยหมัก ในการผลิตพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรในประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 35.01 ไม่เคยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร

เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อปัญหาในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 61.60) มีปัญหาในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร   โดยปัญหาที่พบ อันดับ 1 (ร้อยละ 43.43) เป็นปัญหาการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนการเกษตรได้ อันดับ 2 (ร้อยละ 27.18) มาจากสถานะทางเศรษฐกิจการเงินของเกษตรกรไม่เอื้ออํานวย และอันดับ 3 (ร้อยละ 24.67) ขาดความรู้ ความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร ในขณะอีกร้อยละ 38.40 ไม่พบปัญหาในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตร

และเมื่อสอบถามความต้องการในการให้หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาสนับสนุนด้านการใช้เทคโนโลยี  พบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 79.03) ต้องการให้สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน อันดับ 2 (ร้อยละ 48.01) ต้องการให้มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรมาเผยแพร่ในระดับชุมชน อันดับ 3 (ร้อยละ 43.72) ต้องการให้มีการเปิดอบรมการใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรที่สนใจ

และจากการสอบถามความต้องการใช้เทคโนโลยีหากมีเงินทุน พบว่า  อันดับ 1 (ร้อยละ 55.54) ต้องการเครื่องจักรกลเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์, โดรนการเกษตร อันดับ 2 (ร้อยละ 48.15) การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เช่น การยืดอายุและการเก็บรักษาผลผลิตทางการเกษตร อันดับ 3 (ร้อยละ 46.23) ต้องการใช้เทคโนโลยีการปลูกพืชในโรงเรือนแบบปิด และการนำระบบอัตโนมัติช่วยควบคุมดูแลแปลงพืช      

 ประเทศไทยเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ โดยอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของคนในประเทศ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันการผลิตพืชผลทางการเกษตร เริ่มมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรเข้ามาใช้ โดยส่วนมากจะใช้เครื่องจักรกลเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์ หรือโดรนเพื่อการเกษตร แต่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมของเกษตรกร นั้นมักจะพบปัญหา ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ เช่น ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ทำให้ขาดโอกาสในการทำเกษตร จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุน ให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้เพื่อให้มีโอกาสการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ตอบโจทย์นโยบาย Thailand 4.0 ที่ขับเคลื่อนด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ในประเทศอย่างแท้จริง

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด