ผู้บริโภคร้อยละ 91.15 ย้ำการนำเข้าผักนอกกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตในไทย และผู้บริโภคร้อยละ 74.52 เลือกอุดหนุนผักในประเทศเป็นอันดับแรก

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,209 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24 เมษายน – 9 พฤษภาคม  2565  ในหัวข้อ “คนไทยคิดอย่างไรกับการนำเข้าผักจากต่างประเทศ” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความคิดเห็นและพฤติกรรมต่อการเลือกซื้อและบริโภคผัก รวมทั้งความคิดเห็นต่อการนำเข้าผักจากต่างประเทศในปัจจุบัน ผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 57.24 ทราบว่ามีการนำเข้าผักจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งร้อยละ 33.91 นั้น ทราบแหล่งที่มาของผักที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ อีกร้อยละ 66.09 ไม่ทราบแหล่งที่มาของผักที่นำเข้ามาจำหน่าย และร้อยละ 42.76 นั้นไม่ทราบว่ามีการนำเข้าผักจากประเทศเข้ามาจำหน่าย เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการนำเข้าผักจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย ร้อยละ 72.02 ไม่เห็นด้วยในการนำเข้าผักมาจำหน่ายในประเทศ เนื่องจากทำให้ผักที่ผลิตภายในประเทศมีคู่แข่งมากยิ่งขึ้นและคิดว่าผักนำเข้ามีราคาสูงกว่าผักที่จำหน่ายภายในประเทศ มีเพียงร้อยละ 27.98 เท่านั้นที่เห็นด้วยในการนำเข้าผักจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่าย เพราะจะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคผักที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้นและมีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงเป็นการช่วยเหลือผู้บริโภคหากผักที่ผลิตภายในประเทศมีราคาที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามจากการสำรวจพบว่า หากผู้บริโภคทราบแหล่งที่มาของผักอย่างชัดเจน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้อยละ 74.52 เลือกที่จะอุดหนุนผักที่ผลิตภายในประเทศก่อนเป็นอันดับแรก รองลงมาร้อยละ 24.32 จะเลือกอุดหนุนได้ทั้งผักในประเทศและผักที่นำเข้ามาจำหน่าย มีเพียงร้อยละ 1.16 จะเลือกอุดหนุนผักที่นำเข้าจากต่างประเทศ

เมื่อสอบถามเกณฑ์ในการเลือกซื้อผักของผู้บริโภค พบว่า ผู้บริโภคร้อยละ 44.77 เลือกซื้อจากความปลอดภัยเป็นอันดับแรก รองลงมาร้อยละ 24.34 เลือกซื้อจากราคาของผัก ร้อยละ 20.18 เลือกซื้อจากคุณภาพ/ขนาด ร้อยละ 6.40 เลือกซื้อจากแหล่งที่มา/แหล่งผลิต ร้อยละ 3.57 เลือกซื้อจากสถานที่จำหน่าย และร้อยละ 0.74 เลือกซื้อจากชนิดของผัก

เมื่อสอบถามความคิดเห็นถึงผลกระทบของการนำเข้าผักจากต่างประเทศที่มีต่อเกษตรกรไทย พบว่า ร้อยละ 91.15 เห็นว่าส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย มีเพียงร้อยละ 8.85 เท่านั้นที่เห็นว่าไม่กระทบต่อเกษตรไทย  ส่วนข้อเสนอแนะต่อการนำเข้าผักจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยของผู้บริโภค 1) ควรส่งเสริม/สนับสนับสนุนให้เกษตรกรไทยปลูกผักให้มีคุณภาพเพื่อสามารถแข่งขันกับผักนำเข้าได้ 2) ควรส่งเสริมเทคโนโลยีในการผลิตพืชผัก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตของเกษตรกร 3) ลดการนำเข้าผักจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนผักจากเกษตรกรภายในประเทศ 4) ควรส่งเสริม/สนับสนุนเกษตรกรในการลดต้นทุนการผลิต และ 5) ควรส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชผักทางเลือกเพื่อเพิ่มโอกาสให้มากขึ้น

จากผลการสำรวจ จะเห็นได้ว่าการนำเข้าผักจากต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้บริโภคภายในประเทศได้มีทางเลือกในการบริโภคผักที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งเป็นบรรเทาความเดือดร้อนของผู้บริโภคเนื่องจากผักที่ผลิตภายในประเทศมีการปรับราคาสูงขึ้น แต่ในมุมมองของผู้บริโภคนั้นหากทราบแหล่งที่มาชัดเจนก็ยังเลือกที่จะอุดหนุนผักที่ปลูกจากเกษตรกรไทย ถึงแม้ว่าผักจากต่างประเทศบางชนิดนั้นอาจจะมีคุณภาพและราคาถูกกว่าก็ตาม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ไม่ใช่เป็นการลดปริมาณการนำเข้าผักจากต่างประเทศ แต่ควรเป็นการส่งเสริมเกษตรกรไทยทำการผลิตพืชผักที่มีคุณภาพ ตามความต้องการของผู้บริโภค มีความปลอดภัย เพื่อให้ผักที่ผลิตภายในประเทศนั้นสามารถแข่งขันกับผักที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบันได้

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด