ประชาชน ร้อยละ 96.43 ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน กว่า ร้อยละ 83.66 บอกต้องประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,206 ราย (ภาคเหนือ ร้อยละ 20.65 ภาคกลาง ร้อยละ 25.15 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 25.15 และภาคใต้ ร้อยละ 29.05) ระหว่างวันที่ 28 เมษายน -12 พฤษภาคม 2565 ในหัวข้อ ประชาชนกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินชีวิตในภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยปัจจุบัน

ผลการสำรวจ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.43 ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยอันดับ 1 ได้รับผลกระทบจาก ปัญหาค่าครองชีพสูง (ร้อยละ 75.09) อันดับ 2 ได้รับผลกระทบจาก รายได้ที่ลดลง/ค่าแรงที่น้อยลง (ร้อยละ 46.56) อันดับ 3 ได้รับผลกระทบจาก หนี้สินครัวเรือน (ร้อยละ 37.63) อันดับ 4 ได้รับผลกระทบจาก การขาดแคลนเงินทุน (ร้อยละ 25.82) และอันดับ 5 ได้รับผลกระทบจาก การถูกเลิกจ้าง/หางานยากขึ้น (ร้อยละ 20.62) มีเพียงร้อยละ 3.57 เท่านั้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สำหรับวิธีการปรับตัว ในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.02 มีการปรับตัว โดยอันดับ 1 ได้แก่ การประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 83.66) อันดับ 2 ได้แก่ การเก็บออม (ร้อยละ 50.13) และอันดับ 3 ได้แก่ การหาอาชีพเสริม (ร้อยละ 38.73) มีเพียงร้อยละ 3.98 เท่านั้นที่ไม่ได้มีการปรับตัว จากการสอบถามถึงความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจไทยของภาครัฐ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.23 เชื่อมั่นว่าภาครัฐจะแก้ไขปัญหาค่าครองชีพได้ ในขณะที่อีกร้อยละ 45.77 ไม่เชื่อมั่นว่าภาครัฐจะแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชนได้
เมื่อสอบถามถึงปัญหาที่ประชาชนต้องการให้มีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พบว่า อันดับ 1 ได้แก่ ปัญหาค่าครองชีพสูง (ร้อยละ 71.72) อันดับ 2 ได้แก่ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ร้อยละ 61.44) อันดับ 3 ได้แก่ ปัญหารายได้/ค่าแรงต่ำ (ร้อยละ 54.31) อันดับ 4 ได้แก่ ปัญหาการว่างงาน/ตกงาน (ร้อยละ 46.60) และอันดับ 5 ได้แก่ ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน (ร้อยละ 43.12) ส่วนข้อเสนอแนะของประชาชนต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันส่วนใหญ่ พบว่า 1) ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เนื่องจากค่าครองชีพในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้น 2) ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาการว่างงานและกระตุ้นการจ้างงานภายในประเทศ 3) ต้องการให้มีการแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน เช่น มีการควบคุมราคาสินค้า เป็นต้น 4) ต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล เพื่อให้มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารงานของประเทศให้ดีขึ้น

จากการสำรวจดังกล่าว เห็นได้ว่าประชาชนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันเป็นอย่างมาก จากปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระทบเป็นวงกว้าง ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญที่ประชาชนจำเป็นจะต้องแบกรับภาระทั้งสิ้น แต่อย่างไรก็ตามภาครัฐก็ควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชน เช่น การควบคุมราคาสินค้าต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและให้การส่งเสริม/สนับสนุนในด้านต่าง ๆ อีกทั้งนโยบายในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว ให้ประชาชนในประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด