ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ที่สำคัญของประเทศ (เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา น่าน ตาก จันทบุรี สระแก้วและจังหวัดเลย) จำนวน 985 ราย ระหว่างวันที่ 20 - 30 มิถุนายน 2565 ในหัวข้อ “ลำไยไทยจะเป็นอย่างไรภายใต้สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่สำคัญของประเทศต่อสถานการณ์ด้านการผลิตและตลาดของลำไยภายใต้สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ผลการสำรวจความคิดเห็น พบว่าเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ร้อยละ 77.16 ประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น (ได้แก่ ปุ๋ยเคมี สารพ่นเร่งดอก น้ำมันเชื้อเพลิงและค่าจ้างแรงงาน) โดยอีกร้อยละ 16.44 มีต้นทุนการผลิตลดลง เนื่องจากลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารพ่นเร่งดอกลงจากปีที่ผ่านมา ส่วนร้อยละ 6.40 มีต้นทุนเท่าเดิม ด้านความคิดเห็นต่อราคาผลผลิตลำไยปีนี้ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.39 คาดว่าราคาผลผลิตลำไยจะตกต่ำลง โดยมีสาเหตุมาจากนโยบายการป้องกันโควิด-19 ที่เข้มงวดของประเทศจีน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกลำไยไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก (ร้อยละ 60.00) ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ไม่มีผู้รับซื้อผลผลิตหรือรับซื้อผลผลิตในปริมาณที่ลดลง (ร้อยละ 22.00) และจากการที่ผลผลิตออกมาก ในช่วงเวลาเดียวกัน (ร้อยละ 12.00) มีเพียงร้อยละ 8.05 ที่คิดว่าราคาไม่ตกต่ำ ในขณะที่ร้อยละ 25.56 ไม่แน่ใจในประเด็นดังกล่าว เมื่อสอบถามถึงความวิตกกังวลต่อการบริหารจัดการผลผลิตลำไย ปี 2565 นี้ พบว่าอันดับ 1 ร้อยละ 62.13 กังวลว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า อันดับ 2 ร้อยละ 56.85 กังวลว่าสถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการขนส่ง และกระจายสินค้าภายในประเทศ และอันดับ 3 ร้อยละ 55.84 กังวลต่อปัญหาภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศตกต่ำ ทำให้ประชาชนในประเทศ มีกำลังซื้อที่ลดลง ทั้งนี้เกษตรกรผู้ปลูกลำไยได้เสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำ ได้แก่ อันดับ1 ควรมีการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าใหม่ๆ (ร้อยละ 71.98) อันดับ 2 ควรส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และเร่งการกระจายผลผลิตให้รวดเร็วยิ่งขึ้น (ร้อยละ 63.15) อันดับ 3 ควรส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตลำไย (ร้อยละ 57.26) และอันดับ 4 ควรส่งเสริมให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิต ลำไยได้มากขึ้น (ร้อยละ 51.17)
จากผลการสำรวจพบว่าสถานการณ์ของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยยังมีความเสี่ยงต่อการขาดทุน เนื่องจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาด้านการส่งออกที่นอกจากปัญหาการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าเกษตรส่งออกแล้ว ยังประสบปัญหานโยบายการป้องกันโควิด-19 ที่มีความเข้มงวดมากขึ้นของประเทศปลายทาง โดยเฉพาะประเทศจีน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องที่จะต้องหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ และการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ ให้เพิ่มขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยของประเทศไทย