พิษเศรษฐกิจ ทำคนไทยร้อยละ 89.24 ทำบุญลดลง/ไม่ทำบุญเลย และร้อยละ 64.60 ย้ำต้องประหยัดเหตุค่าครองชีพสูงขึ้น

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 23.78 ภาคกลาง ร้อยละ 16.22 ภาคกลาง ร้อยละ 26.01 และภาคใต้ ร้อยละ 33.99) จำนวน 965 ราย ระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 10 กรกฏาคม  2565 ในหัวข้อ “คนไทยกับพฤติกรรมการทำบุญปี 65” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อพฤติกรรมการทำบุญเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางศาสนา ตลอดจนรูปแบบการทำบุญในสถานการณ์ปัจจุบัน

ผลการสำรวจความคิดเห็น พบว่าปัจจุบัน ประชาชน ร้อยละ 58.96 มีความต้องการในการทำบุญที่เปลี่ยนแปลงไป โดยในรายละเอียดพบว่า ประชาชนมากกว่า (ร้อยละ 89.24) ทำบุญลดลง/ไม่ทำบุญเลย และ (ร้อยละ 10.76) ทำบุญเพิ่มขึ้น โดยอีกร้อยละ 41.04 การทำบุญไม่เปลี่ยนแปลง (เหมือนเดิม)

          ด้านรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงการทำบุญ ได้แก่

  • เหตุผลของการทำบุญลดลง/ไม่ทำบุญเลย ร้อยละ 89.24 พบว่าส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ต้องลดการทำบุญเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลง (ร้อยละ 64.60) รองลงมาคือ ปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องลดการไปในที่มีการรวมตัวกัน (ร้อยละ 19.47)
  • เหตุผลของการทำบุญเพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.76 พบว่าส่วนใหญ่ต้องการทำความดีเพื่อสั่งสมบุญ และต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ (ร้อยละ 54.17) รองลงมาคือ ต้องการช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ด้อยโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลือ (ร้อยละ 20.83)

ส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายในการทำบุญเฉลี่ย 3,222 บาท ต่ำสุด 100 บาทและสูงสุด 30,000 บาท โดยในรายละเอียดพฤติกรรมการทำบุญในปัจจุบันพบว่ายังคงมีรูปแบบการทำบุญด้วยการเข้าร่วกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาและโอกาสสำคัญต่างๆ ได้แก่ การใส่บาตรพระสงฆ์ ถวายสังฆทาน ร้อยละ 69.22  รองลงมาคือ ใช้วิธีโอนเงินช่วยเหลือผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 64.15 ด้านสถานที่หรือแหล่งในการทำบุญ ส่วนใหญ่พบว่า อันดับ 1 นิยมทำบุญกับวัดหรือศาสนสถานตามความเชื่อในศาสนาต่างๆ  ร้อยละ 90.26  รองลงมาคือ  ทำบุญให้กับจุดรับบริจาคเงินหรือสิ่งของตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า บริการต่างๆ ร้อยละ 52.64 และอันดับ 3 ทำบุญให้กับโรงพยาบาล ร้อยละ 42.59

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่จะเห็นว่าประชาชนลดการทำบุญลง แต่ก็ยังคงมีรูปแบบการทำบุญก็ยังคงให้ความสำคัญกับการทำบุญเนื่องในวันสำคัญทางศาสนาตามวัดหรือศาสนสถานต่างๆ แต่อย่างไรก็ตามการทำบุญจำเป็นต้องคำนึงถึงกำลังและศักยภาพของตนเอง เนื่องจากสภาพปัญหาภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนให้สูงขึ้น  อีกทั้งอาจปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการในการทำบุญที่หลากหลายขึ้น เช่น การเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคม เป็นต้น

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด