ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 22.52 ภาคกลาง ร้อยละ 17.32 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 28.90 และภาคใต้ ร้อยละ 31.26) จำนวน 1,097 ราย ระหว่างวันที่ 11 - 20 สิงหาคม 2565 ในหัวข้อ “ค่าครองชีพและหนี้สินของเกษตรกรไทยในปี 2565” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรต่อค่าครองชีพในการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน
จากผลการสำรวจความคิดเห็น พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 66.73 มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน มีเพียงร้อยละ 33.27 ที่มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ในส่วนของปัญหาหนี้สินของเกษตรกรนั้น พบว่าเกษตรกรทั้งหมดร้อยละ 100.00 มีภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 70.96 สามารถชำระหนี้ได้ที่ตามกำหนด มีเพียงร้อยละ 29.04 ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ (ขอพักหนี้/ปรับปรุงโครงสร้างหนี้) เมื่อสอบถามปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของครัวเรือนเกษตรกรพบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 73.75) ได้รับผลกระทบจากราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ อันดับ 2 (ร้อยละ 54.42) ได้รับผลกระทบจากสินค้าอุปโภคบริโภคราคาสูงขึ้น และอันดับ 3 (ร้อยละ 30.90) ได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตทางการเกษตรสูงจากการสอบถามความต้องการในการช่วยเหลือจากภาครัฐพบว่า อันดับ 1 (ร้อยละ 71.01) ต้องการให้มีมาตรการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค อันดับ 2 (ร้อยละ 61.80) ต้องการให้มีมาตรการควบคุมราคาต้นทุนการผลิตทางการเกษตร เช่น ค่าปุ๋ย ค่าเคมีภัณฑ์ต่างๆ อันดับ 3 (ร้อยละ 47.86) ต้องการให้มีโครงการช่วยเหลือค่าครองชีพให้แก่ประชาชน เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง ลดค่าไฟฟ้า เป็นต้น และอันดับ 4 (ร้อยละ 30.81) ต้องการให้มีโครงการ/มาตรการช่วยเหลือด้านราคาสินค้าเกษตร เช่น การประกันราคา ชดเชยค่าต้นทุนขนส่งผลผลิตทางการเกษตรไปขาย เป็นต้น
จากการสำรวจพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่นั้นประสบกับปัญหาการมีหนี้สิน ซึ่งสาเหตสำคัญประการหนึ่งก็คือการมีรายได้จากการประกอบอาชีพที่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ทำให้ต้องมีการกู้หนี้ยืมสินเพื่อนำมาใช้จ่ายในการอุปโภคและบริโภค รวมถึงการกู้ยืมเพื่อนำไปลงทุนทางการเกษตร ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่าราคาผลผลิตทางเกษตรหลายๆ ชนิดมีราคาตกต่ำอันเนื่องมาจากปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และปัญหาการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในทุกประเทศอย่างเป็นวงกว้างรวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเกษตรที่สูงขึ้นตามไปด้วยยิ่งเป็นการตอกย้ำปัญหาให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างมาก ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องเข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรของประเทศไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสามารถประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงครอบครัวของตนเองและมีความสุขกับอาชีพเกษตรกรรรมที่ถือผู้ผลิตคลังอาหารในประเทศและส่งออกเป็นรายได้นำเข้าประเทศ