เกษตรกร ร้อยละ 87.15 ได้รับผลกระทบต้นทุนการผลิตสูงลิ่ว และกว่า ร้อยละ 83.66 ปรับตัวโดยหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,090 ราย (ภาคเหนือ ร้อยละ 23.21 ภาคกลาง ร้อยละ 17.80 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 27.34 และภาคใต้ ร้อยละ 31.65) ระหว่างวันที่ 20 สิงหาคม - 2 กันยายน 2565 ในหัวข้อ เกษตรกรไทย...ปรับตัวอย่างไร ในภาวะต้นทุนสูง มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรไทยต่อสถานการณ์ต้นทุนในการทำการเกษตรสูงในปัจจุบัน

ผลการสำรวจ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.15 ได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนการผลิตมีการปรับตัวที่เพิ่มสูงขึ้น มีเพียงร้อยละ 12.85 เท่านั้น ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนการผลิตสูง สำหรับต้นทุนการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร พบว่า อันดับ 1 ได้แก่ ปุ๋ยเคมี เคมีภัณฑ์เกษตร (ร้อยละ 72.14) อันดับ 2 ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในการเกษตร (ร้อยละ 59.02) อันดับ 3 ได้แก่ ค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 31.26) อันดับ 4 ได้แก่ ค่าแรงงาน (ร้อยละ 27.86) อันดับ 5 ได้แก่ ต้นทุนค่าจ้างการขนส่ง (ร้อยละ 24.55) อันดับ 6 ได้แก่ ต้นทุนอาหารสัตว์ (ร้อยละ 21.91) จากการสอบถามถึงการปรับตัวต่อการผลิตทางการเกษตรในภาวะต้นทุนสูงของเกษตรกร พบว่า อันดับ 1 ได้แก่ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากเดิมเป็นแบบเกษตรผสมผสานหรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพาะปลูก/ผลิต เพื่อลดต้นทุนในการผลิต (ร้อยละ 70.34) อันดับ 2 ได้แก่ การลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปัจจัยการผลิต เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมี (ร้อยละ 59.41) อันดับ 3 ได้แก่ การปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้ตรงกับความต้องการและมีการวางแผนทางการตลาด (ร้อยละ 51.90) อันดับ 4 ได้แก่ ลดพื้นที่การผลิต/ปริมาณการผลิตลง (ร้อยละ 41.61) อันดับ 5 ได้แก่ หันไปประกอบอาชีพนอกภาคการเกษตรอื่นแทน (ร้อยละ 20.48) ส่วนข้อเสนอแนะของเกษตรกรต่อการแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตทางการเกษตรสูง พบว่า 1) เกษตรกรต้องการให้รัฐบาลควบคุมราคาของปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เช่น ราคาปุ๋ยยา อาหารสัตว์ เป็นต้น 2) ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาบริหารจัดการราคาน้ำมันโดยหามาตรการปรับราคาน้ำมันให้มีความเหมาะสมต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศ 3) ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรให้มีราคาที่สูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

จากการสำรวจดังกล่าว เห็นได้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปัญหาต้นทุนการผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เช่น ปุ๋ยเคมี เคมีภัณฑ์เกษตร และอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นภาระที่เกษตรกรจะต้องเป็นผู้ที่แบกรับทั้งสิ้นอย่างไรก็ตามปัญหาต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่สูงขึ้นนั้น นอกจากส่งผลให้เกษตรกรประสบภาวะขาดทุนแล้วยังส่งผลระยะยาวถึงความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร โดยการออกมาตรการต่าง ๆ เช่น การควบคุมราคาปุ๋ย เคมีภัณฑ์เกษตร และอาหารสัตว์ ที่จำเป็นต่อการผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร อีกทั้งควรมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาต้นทุนการผลิตทางการเกษตรในระยะยาว เช่น การพัฒนาให้ความรู้ด้านการเกษตรเพื่อลดต้นทุนทางการเกษตร และการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นผู้ประกอบการที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตทางการเกษตร

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด