ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 26.70 ภาคกลางร้อยละ 34.04 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 27.17 และภาคใต้ ร้อยละ 12.09) จำนวน 1,267 ราย ระหว่างวันที่ 15 – 25 กันยายน 2565 ในหัวข้อ “คนไทย..กับการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติน้ำท่วม” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงการเตรียมพร้อมรับมือหากเกิดน้ำท่วม
ผลการสำรวจความคิดเห็น พบว่าในช่วงที่ผ่านมา ประชาชน ร้อยละ 63.03 ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ในขณะที่ร้อยละ 36.97 ยังไม่ได้รับผลกระทบ เมื่อพิจารณาความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบ พบว่า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน (ร้อยละ 67.42) อันดับ 2 น้ำท่วมขังนานหลายวัน (ร้อยละ 31.83) และอันดับ 3 ลมแรง พัดบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างเสียหาย (ร้อยละ 26.32) ตามลำดับ สำหรับความเดือดร้อนและเสียหายจากฝนตกหนักและน้ำท่วม ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 40.98 เดือดร้อนจากเส้นทางคมนาคมถูกตัดขาด ไม่สะดวกในการเดินทาง รองลงมา ร้อยละ 39.85 บ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างเสียหาย/ข้าวของสูญหาย อันดับ 3 ร้อยละ 35.71 พื้นที่และผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากฝนตกหนัก พายุฝนฟ้าคะนอง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 90.61 มีการติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศ คำเตือนจากภาครัฐและสื่อ รองลงมาร้อยละ 32.38 ได้จัดเตรียมอาหารและของใช้ที่จำเป็น อันดับ 3 ร้อยละ 24.34 เตรียมป้องกันพื้นที่ทางการเกษตร ด้านข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝนตกหนัก พบว่า ประชาชนต้องการให้มีการเตรียมมาตรการในระยะยาว เช่น การขุดลอกคลอง ทางระบายน้ำ กำจัดวัชพืชและขยะก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูฝน และป้องกันปัญหาเกี่ยวกับไฟฟ้า เช่น ไฟฟ้าดับหรือไฟรั่ว เป็นต้น
ตั้งแต่เดือนปลายเดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันกันในหลายพื้นที่ และมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน และในบางพื้นที่ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมขังนานหลายวัน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนด้านการเดินทางและที่อยู่อาศัย ข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านได้รับความเสียหาย ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเพียงฝนตกหนักจากลมมรสุมที่พัดผ่าน ในขณะที่สุดสัปดาห์ของเดือนกันยายน 2565 นี้ ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากพายุไต้ฝุ่น “โนรู” ที่คาดว่าจะทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายจังหวัดของประเทศ อย่างไรก็ตามผลสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ก็มีการเตรียมพร้อมในการติดตามข่าวสารจากทางหน่วยงานภาครัฐและสื่ออย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดเตรียมอาหารและของใช้ที่จำเป็นไว้ ทั้งนี้ประชาชนเห็นควรให้ภาครัฐและหน่วยงานทีเกี่ยวข้องเตรียมป้องกันและแก้ไขปัญหาในระยะยาว ได้แก่ การขุดลอกคลอก กำจัดวัชพืชและขยะที่ขวางทางน้ำ เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมอย่างทันท่วงที