คนไทยร้อยละ 79.95 กังวลผลข้างเคียงในการบริโภคกัญชา ย้ำ ควรมีการให้ความรู้ เกี่ยวกับประโยชน์ โทษ ก่อนมีการปลดล็อกกัญชา

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 29.35 ภาคกลาง ร้อยละ 17.46 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 34.68 และภาคใต้ ร้อยละ 18.51) จำนวน 1,247 ราย ระหว่างวันที่ 15 - 25 กันยายน 2565 ในหัวข้อ “คนไทยกับการปลดล็อกกัญชา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการปลดล็อกกัญชาในปัจจุบัน

ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 93.33 ทราบว่ามีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว มีเพียงร้อยละ 6.67 เท่านั้นที่ยังไม่ทราบจากการสอบถามพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.06 เคยบริโภคกัญชาหรืออาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม ในขณะที่ร้อยละ 39.94 ยังไม่เคยบริโภค ซึ่งจากผู้ที่เคยบริโภคแล้วส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.56 ไม่มีอาการผิดปกติกับร่างกาย ในขณะที่ร้อยละ 17.44 มีอาการหลังจากบริโภคกัญชาหรืออาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา โดยอาการที่พบได้แก่ อันดับ 1 มีอาการทางระบบการหายใจ (ร้อยละ 70.84) อันดับ 2 มีอาการทางระบบประสาท (ร้อยละ 66.16) และอันดับ 3 มีอาการทางระบบทางเดินอาหาร (คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง) (ร้อยละ 52.88) เมื่อสอบถามถึงวัตถุประสงค์ในการบริโภคกัญชาหรืออาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม พบว่าประชาชนทั่วไปมีวัตถุประสงค์ในการบริโภคเพื่อ อันดับ 1 เพื่อการดูแลสุขภาพและการรักษาโรค (ร้อยละ 59.01) อันดับ 2 เพื่อเพิ่มรสชาติของอาหารให้ดีมากขึ้น (ร้อยละ 56.48) และ อันดับ 3 บริโภคตามกระแส/อยากรู้อยากลอง (ร้อยละ 33.94) และจากการสอบถามความกังวลในการปลดล็อกกัญญาในปัจจุบัน พบว่า อันดับ 1 กังวลต่อการบริโภคแล้วทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกาย (ร้อยละ 79.95) อันดับ 2 กังวลต่อการนำไปผสมในอาหารเพื่อจำหน่ายแล้วไม่ได้แจ้ง
แก่ผู้บริโภค (ร้อยละ 73.30) อันดับ 3 กังวลต่อการนำไปใช้โดยไม่รู้/ทดลอง โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (ร้อยละ 68.00) และอันดับ 4 การบริโภคแล้วเกิดอาการทางประสาทอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม (ร้อยละ 54.76) สำหรับข้อเสนอแนะต่อการปลดล็อกกัญชาในปัจจุบันพบว่า 1) ควรมีการให้ความรู้ เกี่ยวกับประโยชน์ โทษ ให้ประชาชนก่อนที่จะมีการปลดล็อกกัญชา 2) ควรมีกฏหมาย/ข้อบังคับ เพื่อควบคุมการกระทำผิด ถึงแม้ว่าจะมีการปลดล็อกกัญชาแล้วก็ตามในปัจจุบันถือได้ว่าการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดนั้น เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจและกังวลใจไม่น้อย เพราะจากข่าวที่มีผู้เสพ/ทดลองแล้วเกิดผลข้างเคียง เช่น อาการทางระบบประสาท หรืออาการอื่นๆ ที่เป็นผลเสียต่อร่างกาย ทำให้มีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลต่อวันเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสมาคมแพทย์ต่างๆ ได้มีการร้องขอให้มีการยุติการปลดล็อกกัญชาไปแล้ว นอกจากนี้แล้วในการประชุมสภาผู้แทนราษฏรเมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมาก็ได้มีการลงมติถอดถอนร่าง พ.ร.บ.กัญชาอีกด้วย ซึ่งทำให้เห็นว่าการปลดล็อกกัญชาในครั้งนี้ สร้างความกังวลใจแก่หลายฝ่ายด้วยกัน จากการสำรวจข้อมูลเห็นได้ว่าถึงแม้ผู้ที่เคยบริโภคบริโภคส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหลังจากบริโภค แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเสพหรือบริโภค ซึ่งผู้เกี่ยวข้องในหลายฝ่ายอาจจะต้องมีการทบทวน เปรียบเทียบผลดี ผลเสียของการปลดล็อคกัญชาดังกล่าว ว่าจะมีการปลดล็อกต่อไปหรือไม่ เพื่อให้สามารถใช้กัญชาให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้ให้สำเร็จ

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด