คนไทยร้อยละ 89.93 ยอมรับเพศทางเลือกมากขึ้น และร้อยละ 82.07 เห็นด้วยกับการออกกฎหมายรับรองการจดทะเบียนสมรสหรือคู่ชีวิตสำหรับเพศทางเลือก

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,253 ราย ระหว่างวันที่ 25 กันยายน – 5 ตุลาคม 2565 ในหัวข้อ สังคมไทย...คิดอย่างไรกับเพศทางเลือก (LGBTQ+) มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศที่มีต่อเพศทางเลือก (LGBTQ+)

จากการสำรวจพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 89.93 ยอมรับได้หากมีคนใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานที่เป็นเพศทางเลือก (LGBTQ+) โดยให้เหตุผลว่า เพราะทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด (ร้อยละ 48.22) เพราะมีคนใกล้ชิดเป็นเพศทางเลือก (ร้อยละ 24.90) เพราะเพศทางเลือกในปัจจุบันมีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย (ร้อยละ 15.81) และเพราะสังคมไทยเปิดกว้างและมีการยอมรับเพศทางเลือกมากขึ้น (ร้อยละ 7.91) โดยมีประชาชนเพียงร้อยละ 2.24 เท่านั้นที่ไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากไม่ชอบเป็นการส่วนตัว ในขณะที่อีก ร้อยละ 7.83 ยังไม่แน่ใจในประเด็นดังกล่าว เมื่อสอบถามประเด็นการจำกัดสิทธิของเพศทางเลือก (LGBTQ+) พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.80 ยังเห็นว่าเพศทางเลือก (LGBTQ+) ถูกจำกัดสิทธิและการยอมรับในสังคม โดยพบว่า อันดับ 1 มีข้อจำกัดการระบุตัวตน/คำนำหน้า (ร้อยละ 49.48) อันดับ 2 มีข้อจำกัดและปัญหาจากครอบครัว (ร้อยละ 26.90) อันดับ 3 มีข้อจำกัดในด้านการแต่งกาย (ร้อยละ 28.57) เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อการเรียกร้องให้มีการออกกฎหมายรับรองการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.02 เห็นด้วย หากประเทศไทยจะมีการออกกฎหมายรับรองการจดทะเบียนสมรส/พ.ร.บ.คู่ชีวิตสำหรับเพศทางเลือก (LGBTQ+) โดยให้เหตุผลว่า ควรมีกฎหมายที่ให้สิทธิเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นเพศใดสมรสกัน (ร้อยละ 73.29) ความรักไม่ควรมีการจำกัดเพศ และควรสร้างความชัดเจนในสถานภาพ (ร้อยละ 26.71) โดยมีเพียง ร้อยละ 4.08 ที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า อาจเกิดความวุ่นวายในสถานภาพและการใช้เอกสารทางราชการ นอกจากนี้ยังมองว่าการจดทะเบียนสมรสไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าจะอยู่ด้วยกันยาวนาน และ เห็นว่าสังคมไทยในปัจจุบันไม่ได้จำกัดสิทธิรวมถึงมีการยอมรับในสังคมอยู่แล้ว ส่วนอีกร้อยละ 13.85 ไม่แน่ใจ ทั้งนี้ประชาชนทั่วไปได้มีข้อเสนอแนะต่อการเปลี่ยนแปลงการยอมรับเพศทางเลือก (LGBTQ+) ในสังคมไทย ได้แก่ 1) ควรเริ่มที่ผู้ใหญ่เปิดใจยอมรับลูกหลานของตนเอง 2) ควรมีการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสร้างความเข้าใจถึงเพศทางเลือก LGBTQ+ อาจให้มีการรณรงค์โดยผู้มีชื่อเสียงเพื่อให้ มีการยอมรับมากขึ้น 3) ควรเปิดใจยอมรับให้ทุกเพศเท่าเทียมกัน 4) อยากให้หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนการมีส่วนร่วมของเพศทางเลือก LGBTQ+ ในการทำงานราชการให้มีการยอมรับที่มากขึ้น

ในปัจจุบันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปโดยที่โลกและประเทศไทยให้ความสำคัญกับด้านสิทธิความเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งในอดีตเพศทางเลือกนั้นถือว่าไม่ได้เป็นที่ยอมรับในสังคมไทยมากนัก แต่ในปัจจุบันนี้ยุคสมัยและมุมมองความคิดในสังคมเปลี่ยนไป มีการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทำให้เพศทางเลือก (LGBTQ+) สามารถเปิดเผยตัวตนได้อย่างเสรีในสังคมไทย รวมทั้งการเปิดโอกาสให้แสดงความรู้ความสามารถได้มากขึ้น เช่น การมีบทบาททางการเมืองเป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตามยังมีอีกมุมมองหนึ่งของสังคมที่ปิดกั้นและไม่เปิดยอมรับเพศทางเลือก โดยจากการสำรวจพบว่าเพศทางเลือกยังคงถูกจำกัดสิทธิบางประการทั้งการถูกจำกัดในการระบุตัวตน/คำนำหน้า ข้อจำกัดและปัญหาครอบครัว การแต่งกาย และการถูกเลือกปฏิบัติในสังคมไทย ซึ่งเห็นได้จากการที่เพศทางเลือกและประชาชนทั่วไปได้ออกมาเรียกร้องสิทธิสมรสอย่างเท่าเทียม โดยต้องการเรียกร้องให้แก้ไขกฎหมายการสมรส เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งแยกความไม่เสมอภาคของคนรักต่างเพศออกจากกัน รวมถึงสิทธิที่คู่สมรสควรจะได้รับตามสถานะที่สังคมยอมรับ การควบคุมอย่างไม่เป็นทางการคือการที่คนในสังคมเป็นผู้ควบคุม ตั้งแต่การนินทาว่าร้ายและการกลั่นแกล้ง ซึ่งการกระทำเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของสังคมนั้นๆ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการถูกกำจัดสิทธิในทางเพศด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนในสังคมไทยควรจะเคารพในเรื่องของสิทธิมนุษยชนของกันและกันไม่ว่าจะเป็นเพศใด เพราะหากเกิดเป็นมนุษย์แล้วทุกคนควรมีสิทธิและเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด