ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,526 ราย ระหว่างวันที่ 5-17 ตุลาคม 2565 ในหัวข้อ การออมและการลงทุนของคนไทยในภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศต่อพฤติกรรมการออมและการลงทุนในภาวะปัจจุบัน
ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 64.01 มีความรู้เรื่องภาวะเงินเฟ้อ ในขณะที่ร้อยละ 35.99 ไม่มีความรู้เรื่องเงินเฟ้อ และเมื่อสอบถามประชาชนถึงการออมในปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ 65.70 มีการเก็บออม โดยมีการออม ได้แก่ อันดับ 1 คือเก็บเป็นเงินสด (ร้อยละ 56.19) อันดับ 2 ฝากประจำทั่วไป (ร้อยละ 52.99) และอันดับ 3 ฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์แบบไม่มีสมุดคู่ฝาก (ร้อยละ 23.15) ในขณะที่อีกร้อยละ 34.30 ไม่มีการเก็บออมในรูปแบบใดเลย โดยมีสาเหตุมาจาก อันดับ 1 รายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการเก็บออม (ร้อยละ 61.19) อันดับ 2 มีภาระหนี้สินเดิมที่ต้องชำระ (ร้อยละ 59.08) และอันดับ 3 มีภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนสูง (ร้อยละ 47.04)
ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงวิธีการที่จะปรับตัวในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันเพื่อให้มีเงินออม พบว่า ประชาชนร้อยละ 85.38 มีการปรับตัวเพื่อให้มีความสามารถในการออม อันดับ 1 คือการลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อนำไปออม (ร้อยละ 81.72) อันดับ 2 หาอาชีพเสริมอื่นๆเพื่อเพิ่มรายได้ (ร้อยละ 46.17) ขณะที่ประชาชน ร้อยละ 14.62 ยังไม่มีการปรับตัวแต่อย่างใด และเมื่อสอบถามถึงความสนใจในการลงทุนเพื่อสะสมเงินให้งอกเงยในระยะยาว พบว่า อันดับ 1 ประชาชนทั่วไปมีความสนใจลงทุนสะสมทองคำ (ร้อยละ 62.25) อันดับ 2 สนใจลงทุนซื้อที่ดิน (ร้อยละ 46.00) อันดับ 3 สนใจลงทุนในการซื้อสลากออมทรัพย์ (ร้อยละ 37.94) อันดับ 4 สนใจลงทุนในการซื้อบิทคอยน์ และเหรียญดิจิตอลอื่น ๆ (ร้อยละ 21.49) และอันดับ 5 สนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ซื้อบ้าน คอนโดมิเนียม รีสอร์ต (ร้อยละ 19.79)
จากปัญหาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมา จนมาถึงปัจจุบบันที่เศรษฐกิจไทยเริ่มเกิดการฟื้นตัวจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การอุปโภคบริโภค และการท่องเที่ยวเริ่มกลับมา แต่ก็ยังต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรกว่าภาวะเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะปกติ ถึงอย่างนั้นไม่ว่าจะในปัจจุบันหรือในอนาคตนั้น ก็อาจจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในรูปแบบนี้หรือแบบอื่นๆ เกิดขึ้นตามมาอีกได้ ดังนั้น การเก็บออมถือเป็นวิธีการรับมือและการเตรียมตัวที่ดีของประชาชน ซึ่งจากการสำรวจ พบว่าโดยส่วนใหญ่ประชาชนเลือกที่จะเก็บออมเป็นเงินสด และส่วนใหญ่มีความสนใจที่จะลงทุนโดยการสะสมทองคำ ในขณะที่บางส่วนที่ไม่สามารถเก็บออมได้ พบว่ามีสาเหตุมาจากประชาชนมีรายได้น้อยไม่เพียงพอต่อการนำไปเก็บออม การแก้ไขและปรับตัวของประชาชนส่วนใหญ่ใช้วิธีการปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นเพื่อนำไปออม จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าการเก็บออมถือเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อประชาชนทุกคน การจะให้ประชาชนคนไทยทุกคนมีเงินเก็บออมได้นอกจากวินัยในการเก็บออมของแต่ละคนแล้ว รัฐบาลก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการเก็บออม โดยการมีนโยบายรัฐสวัสดิการต่างๆ ให้ประชาชนมีกำลังและความสามารถที่จะเก็บออมได้ โดยการจัดสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนใช้ร่วมกัน เช่น นโยบายการเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับนโยบายส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้หากประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงสวัสดิการขั้นพื้นฐานได้ จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ทุกคนในประเทศ และยังสามารถวางแผนการเงินเพื่อเหลือสำหรับนำมาไว้ใช้ในการเก็บออมในอนาคตต่อไป