ชาวสวน ร้อยละ 62.16 ชี้ไม่มีความมั่นคงในอาชีพและรายได้ เหตุ!! ราคาตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ไม่คุ้มค่าการผลิต

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 48.90 ภาคกลาง ร้อยละ 20.06  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 17.49 และภาคใต้ ร้อยละ 13.55) จำนวน 766 ราย ระหว่างวันที่ 15-23 ตุลาคม 2565 ในหัวข้อ อนาคตชาวสวนผลไม้ความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางอาชีพ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลต่อปัญหาที่ประสบในช่วงปีการผลิตที่ผ่านมา รวมถึงความคิดเห็นต่อความมั่นคงทางอาชีพของชาวสวนผลไม้

จากสถานการณ์ด้านตลาดและราคาของผลผลิตไม้ผลในช่วงที่ผ่านมา พบว่า ชาวสวนผลไม้ส่วนใหญ่ร้อยละ 96.48  ประสบปัญหา โดยในรายละเอียดพบว่า อันดับ 1 ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ (ร้อยละ 72.67) อันดับ 2 ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง (ร้อยละ 41.41) และอันดับ 3 ไม่มีตลาดรับซื้อผลผลิต/หรือถูกจำกัดปริมาณการรับซื้อ (ร้อยละ 25.58)

จากสถานการณ์การขยายพื้นที่ปลูกผลไม้ของประเทศเพื่อนบ้าน พบว่า  ชาวสวนผลไม้ของประเทศไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.61 คิดว่าจะได้รับผลกระทบจากการขยายพื้นที่ดังกล่าว โดยประเด็นที่จะได้รับผลกระทบคือ อันดับ 1 ราคาขายผลผลิตผลไม้จะตกต่ำ (ร้อยละ 73.78) รองลงมา คือ ประเทศไทยจะเสียเปรียบในการแข่งขันด้านตลาดผลไม้ (ร้อยละ 38.78) และอันดับ 3 ขาดความมั่นคงในการประกอบอาชีพ (ร้อยละ 38.38) มีเพียงร้อยละ 3.39 ที่เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบ

สำหรับด้านความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ของชาวสวนผลไม้ พบว่า ร้อยละ 62.16 คิดว่าไม่มีความมั่นคงทางอาชีพและรายได้ โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจาก ไม่มีอำนาจต่อรองและถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้ราคาผลผลิตตกต่ำ (ร้อยละ 55.98) รองลงมาคือ ค่าใช้จ่ายในการผลิตและต้นทุนจากการผลิตในปัจจุบันได้เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ไม่คุ้มค่าต่อการผลิต (ร้อยละ 24.59) อันดับ 3 ตลาดรองรับผลผลิตลดลงหรือไม่มีความแน่นอนทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ (ร้อยละ 10.67) ในขณะที่อีกร้อยละ 37.84 ยังคิดว่าอาชีพชาวสวนผลไม้ยังมีความมั่นคง เนื่องจากผลผลิตยังสามารถขายได้ทั้งตลาดภายในชุมชนและยังมีความต้องการของตลาดภายในประเทศ รวมถึงชาวสวนยังมีความพึงพอใจต่อราคาผลผลิต

ประเทศไทย ถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ สามารถปลูกไม้ผลได้หลากหลายชนิด มีผลผลิตออกมาให้บริโภคกันตลอดทั้งปี ถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลไม้รายใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมาผลไม้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปี 2564 มีมูลค่าการส่งออกผลไม้และผลิตภัณฑ์สูงถึง 207,780 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2564) โดยผลไม้ 5 อันดับแรกที่ประเทศไทยส่งออกมากที่สุด คือ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าวอ่อนและมะม่วง อย่างไรก็ตามประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เริ่มหันมาลงทุนในการปลูกไม้ผลมากยิ่งขึ้น โดยในบางพื้นที่เริ่มให้ผลผลิต ซึ่งสถานการณ์นี้ส่งผลกระทบต่อตลาดผลไม้ของประเทศไทยที่จะมีคู่แข่งขันมากขึ้น ดังนั้นหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถผลิตให้มีคุณภาพหรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถแข่งขันในตลาดผลไม้ต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด