คนไทยร้อยละ 84.92 มีการคัดแยกขยะภายในครัวเรือนมากขึ้น และร้อยละ 64.10 บอกขยะในครัวเรือนลดลงจากใช้ถุงผ้าและใช้ถุงซ้ำมากขึ้น

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 32.91 ภาคกลาง ร้อยละ 17.20 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 33.78 ภาคใต้ ร้อยละ 16.11) จำนวนทั้งสิ้น 1,273 ราย ระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2565 ในหัวข้อ“คนไทยกับการจัดการขยะในครัวเรือน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อวิธีการจัดการขยะในครัวเรือนปัจจุบัน

ผลการสำรวจพบว่า การจัดการขยะภายในครัวเรือนในแต่ละพื้นที่ของประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 68.03 ไม่มีปัญหาการจัดการขยะ เนื่องจากในแต่ละชุมชนจะมีจุดทิ้งขยะ บ่อขยะ ธนาคารขยะเป็นของชุมชนเอง อีกทั้งทางหน่วยงานเทศบาล/อบต. มาจัดเก็บตามวันและเวลาที่กำหนดทำให้ไม่เกิดการสะสมขยะมากเกินไป ในขณะที่ร้อยละ 31.97 มีปัญหาการจัดการขยะในครัวเรือน โดยปัญหาอันดับ 1 (ร้อยละ 69.29) ได้แก่ จุดทิ้งขยะไม่เพียงพอ อันดับ 2 (ร้อยละ 65.60) รถเก็บขยะไม่มาเก็บตามเวลาที่กำหนด และอันดับ 3 (ร้อยละ 47.17) มีปัญหาขยะตกค้างตามแหล่งชุมชน ทำให้ส่งกลิ่นเหม็น

จากการสอบถามถึงปริมาณขยะในครัวเรือนเมื่อเทียบช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 64.10 มีปริมาณขยะที่ลดลง โดยมีสาเหตุอันดับ 1 (ร้อยละ 81.25) จากประชาชนส่วนใหญ่หันมาพกถุงผ้าหรือถุงพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำได้ อันดับ 2 (ร้อยละ 46.81) จากการซื้ออาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือนไม่เหลือทิ้ง และอันดับ 3 (ร้อยละ 30.02) จากการเลือกใช้สินค้าที่มีความคงทนถาวรมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ขณะที่ร้อยละ 28.04 มีปริมาณขยะที่เท่าเดิม เนื่องจากประชาชนมีกิจวัตรประจำวันเหมือนเดิม และร้อยละ 7.86 มีปริมาณขยะครัวเรือนเพิ่มขึ้น เนื่องจากสมาชิกภายในครอบครัวมีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีการซื้อของเพิ่มตามไปด้วย

เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการคัดแยกขยะก่อนส่งกำจัดภายในครัวเรือน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 84.92 มีการคัดแยกขยะ โดยมีลักษณะการคัดแยกขยะ ดังนี้ อันดับ 1 (ร้อยละ 64.48) มีการคัดแยกขยะบางส่วนเพื่อนำไปขาย อันดับ 2 (ร้อยละ 56.06) แยกเศษอาหาร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ เช่น การทำปุ๋ย เป็นอาหารสัตว์ และอันดับ 3 (ร้อยละ 47.87) มีการแยกขยะเป็น 3 ประเภท (ขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะอันตราย) มีเพียงร้อยละ 15.08 เท่านั้น ที่ไม่มีการแยกขยะก่อนส่งไปกำจัด

จากการสำรวจดังกล่าว เห็นได้ว่าประชาชนมีความตระหนักและให้ความสำคัญต่อปัญหาในการจัดการขยะภายในครัวเรือนที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น ประชาชนมีการคัดแยกขยะใน
แต่ละประเภทก่อนจะมีการส่งกำจัดในขั้นตอนต่อไป ทำให้การจัดการขยะมีระบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการรณรงค์ในการคัดแยกขยะก่อนนำไปทิ้งสามารถสร้างจิตสำนึกที่ดีให้แก่ประชาชน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง และมุ่งเน้นในส่วนของการลดละเลิกการใช้ถุงพลาสติก เพื่อลดปริมาณขยะในภาพรวมให้ลดลง เพราะปัญหาขยะเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก หากมีการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพและต้องใช้งบประมาณในการจัดการในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากคนไทยมีจิตสำนึกในการรับรู้ ใส่ใจในการคัดแยกขยะและลดปริมาณขยะเป็นกิจวัตรประจำวันในครอบครัวก็จะทำให้ปัญหาการจัดการขยะของประเทศไทยบรรเทาไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด