คนไทย ร้อยละ 66.91 ยังวิตกกังวล การเกิด “อุบัติเหตุ” ช่วงเทศกาลและวันหยุดยาว ในขณะที่ภาพรวมการมี ความรู้ความเข้าใจในการรับมือต่อ การเกิดอุบัติเหตุ อยู่ในระดับ “ปานกลาง” เท่านั้น

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 24.04 ภาคกลาง ร้อยละ 25.92  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 27.79 และภาคใต้ ร้อยละ 22.25) จำนวน 1,227 ราย ระหว่างวันที่ 14 - 22 ธันวาคม 2565 ในหัวข้อ “คนไทย..กับความรู้ ความเข้าใจและเอาตัวรอดจากอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่ 2566” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อความรู้ ความเข้าใจและการเอาตัวรอดจากอุบัติภัย  ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อความคิดเห็นด้านความเสี่ยงที่จะการเกิดอุบัติเหตุของประเทศไทย พบว่า อันดับ 1 อุบัติเหตุทางถนน เช่น รถชน ร้อยละ  92.58 อันดับ 2 อุบัติเหตุจากน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ร้อยละ  57.46  อันดับ 3 อุบัติเหตุอัคคีภัย ไฟไหม้อาคารบ้านเรือน เป็นต้น ร้อยละ  53.97 สำหรับความคิดเห็นด้านการมีความรู้ความเข้าใจ ในการ “เอาตัวรอด” หรือ “ช่วยเหลือผู้อื่น” จากอุบัติเหตุ พบว่า ร้อยละ 81.91  มีความรู้ ความเข้าใจต่ออุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด รองลงมาคือ อุบัติเหตุจากภัยทางธรรมชาติ ร้อยละ 35.37 และอุบัติเหตุทางน้ำ ร้อยละ 32.36

สำหรับความวิตกกังวลต่อการเกิดอุบัติเหตุรุนแรงในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.91 มีความวิตกกังวล โดยให้เหตุผลว่า ในช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาวจะมีการใช้ยานพาหนะเดินทางจำนวนมาก มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองได้ (ร้อยละ 47.90) รองลงมาคือ คนไทยบางส่วนยังขาดวินัยในการใช้รถใช้ถนน ไม่เคารพกฎจราจรและขับขี่ด้วยความประมาท เช่น การเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว เป็นต้น (ร้อยละ 23.11) และอันดับ 3 เจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการป้องกันแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุไม่เพียงพอ (ร้อยละ 21.43) ในขณะที่ ร้อยละ 33.09 ไม่มีความวิตกกังวล โดยให้เหตุผลว่า เชื่อมั่นในการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น การตั้งจุดตรวจเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และมีบุคลากรทางการแพทย์ (ร้อยละ 80.65)

สำหรับระดับความรู้ความเข้าใจในการรับมือต่อการเกิดอุบัติเหตุ พบว่า อันดับ 1 ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น อุบัติเหตุทางถนน จมน้ำ ไฟไหม้ อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 3.52) อันดับ 2 ความรู้เกี่ยวกับ “การเอาตัวรอด” หรือ  “ช่วยเหลือผู้อื่น” เมื่อเกิดอุบัติเหตุต่างๆ อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.38) อันดับ 3 ความพร้อมในการจดจำหรือมีหมายเลขโทรศัพท์สำหรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน อยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย 3.31)

“อุบัติเหตุ” มักเกิดขึ้นอย่างกะทันหันและไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มีการเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับภูมิลำเนาของประชาชนจำนวนมาก โดยประเทศไทยพบข้อมูลในช่วงเทศกาลมักเกิดอุบัติเหตุและส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลต่อการจะเกิดอุบัติเหตุรุนแรงในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาว โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนนที่สูงเป็นอันดับ 1 ในขณะที่การสำรวจระดับความรู้ความเข้าใจต่อการเตรียมรับมืออุบัติเหตุในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งที่ผ่านมามีการรณรงค์ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น 1) มาตรการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ที่มีการคัดกรองผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายด้านการจราจรอย่างเคร่งครัด 2) การให้ความรู้และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ แต่อย่างไรก็ตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อหาแนวทางป้องกัน รวมถึงการช่วยเหลือเมื่อประสบอุบัติเหตุต่างๆ ของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นลดความสูญเสีย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลแห่งความสุข ภายหลังการปลดล็อคมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด