เลือกตั้งปี 66 เกษตรกร ร้อยละ 95.60 จะไปใช้สิทธิ์ คาดหวังภาคการเกษตรจะดีขึ้น จากนโยบายที่มีความชัดเจนและสามารถจะปฏิบัติได้จริง

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ  จำนวน 804 ราย ระหว่างวันที่ 22กุมภาพันธ์ – 6 มีนาคม 2566 ในหัวข้อ เกษตรกรไทย..กับความหวังการเลือกตั้ง ปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศต่อ ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองและผู้นำ รวมถึงความคิดเห็นต่อนโยบายการพัฒนาด้านการเกษตรของรัฐบาลที่กำลังจะมีการเลือกตั้งใหม่ ผลการสำรวจ พบว่า เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 95.60 จะไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะต้องไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งและต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง  ส่วนที่จะไม่ไปใช้สิทธิ์เลือก มีเพียงร้อยละ 4.40 โดยให้เหตุผลว่า รู้สึกเบื่อหน่ายกับการเมืองและต้องทำงานจึงไม่สะดวกที่จะเดินทางไปเลือกตั้ง

เมื่อสอบถามถึงเหตุผลที่จะใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้แทนพรรคการเมือง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นว่า อันดับ 1 จะเลือกคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริตและไม่คดโกง ร้อยละ 80.92 อันดับ 2 จะเลือกคนที่มีประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร ร้อยละ 64.78 อันดับ 3 จะเลือกคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาด้านการเกษตร ร้อยละ 61.53

สำหรับการตัดสินใจเลือกพรรคการเมือง ที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2566 นี้ พบว่าเกษตรกรจะเลือก อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 48.87  อันดับ 2 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 11.47 อันดับ 3 พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 9.72 อันดับ 4 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 7.73 อันดับ 5  พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.60

ด้านประเด็นความคาดหวังต่อ “รัฐบาลใหม่” ในการพัฒนาอาชีพทางการเกษตรให้ดีขึ้น ผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.42 คาดหวังว่าจะดีขึ้นได้  โดยให้เหตุผลว่าดูจากนโยบายที่มีความชัดเจนและสามารถจะปฏิบัติได้จริง รวมถึงเชื่อมั่นในตัวผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถ รองลงมาคือ ร้อยละ 45.91 ยังไม่แน่ใจว่าจะดีขึ้นหรือไม่ โดยให้เหตุผลว่า ไม่แน่ใจเรื่องผลการเลือกตั้งว่าพรรคการเมืองใดจะได้เป็นรัฐบาลและนโยบายที่หาเสียงไว้อาจไม่สามารถทำได้จริงในอนาคต ส่วนอีกร้อยะ 3.67 ไม่คาดหวังว่าจะดีขึ้น เนื่องจากภาคเกษตรไม่ค่อยได้รับความสนใจและนักการเมืองมักเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง 

ด้านข้อเสนอแนะต่อ “รัฐบาลใหม่” ในการแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกร พบว่า อันดับ 1 ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา อ้อย มันสำปะหลังและปาล์ม เป็นต้น ร้อยละ 56.37 อันดับ 2 ต้องการให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร เช่น ราคาปุ๋ยเคมี อาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ร้อยละ 17.83 อันดับ 3 ควรมีการพัฒนาและยกระดับมูลค่าสินค้าทางการเกษตร เช่น การแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร ร้อยละ 9.55

เมื่อ “เกษตรกร”ยังเป็นอาชีพส่วนใหญ่ของคนไทย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาต้องประสบกับปัญหาอุปสรรคในการประกอบอาชีพมากมาย เช่น ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และภาระหนี้สิน การมีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งที่เกษตรกรก็จะได้กำหนดอนาคตของตนเอง โดยการเลือกพรรคการเมืองและผู้นำที่มีการกำหนดนโยบายด้านการเกษตร เช่น การกำหนดนโยบายการยกระดับราคาสินค้าเกษตร แก้ไขปัญหาต้นทุนการเกษตร รวมถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน พรรคการเมืองหรือผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎร จึงจำเป็นต้องเสนอนโยบายที่จะตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มเกษตรกรและเป็นนโยบายที่สามารถทำได้จริง เพื่อจะช่วยแก้ไขปัญหาและทำให้อนาคตภาคการเกษตรของประเทศไทยดีขึ้น

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด