หมอกควัน PM 2.5 ทำคนเหนือค่าใช้จ่ายสุขภาพเพิ่มขึ้น และร้อยละ 99.64 ต้องจัดหาอุปกรณ์ป้องกันตนเองจากฝุ่น

        

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่ ร้อยละ 16.95 ลำพูน ร้อยละ 14.43  ลำปาง ร้อยละ 12.62 พะเยา ร้อยละ 11.06 แพร่ ร้อยละ 10.92 แม่ฮ่องสอน ร้อยละ 11.34  เชียงราย ร้อยละ 11.34  และน่าน ร้อยละ 11.34) ระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม 2566  ในหัวข้อ “มาตรการป้องกันปัญหา PM 2.5 ในจังหวัดภาคเหนือ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อมาตรการและแนวทางการรับมือกับปัญหาสถานการณ์หมอกควันของจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ผลการสำรวจพบว่า

เมื่อสอบถามถึงความสำเร็จของมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันของภาครัฐที่ผ่านมา โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน พบว่า อันดับ 1 มาตรการการรณรงค์ งดการเผาป่า มีระดับความสำเร็จ ร้อยละ 76.80 อันดับ 2 ได้แก่ มาตรการบทลงโทษที่รุนแรงแก่ผู้กระทำผิด เช่น การลักลอบเผา มีระดับความสำเร็จ ร้อยละ 74.80 อันดับ 3 มาตรการการรณรงค์งดการเผาในที่โล่งและการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตร เช่น นำฟางข้าวไปทำปุ๋ย หรือนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทนการเผา มีระดับความสำเร็จ ร้อยละ 74.20  อันดับ 4 มาตรการกำหนดช่วงเวลาในการเผา (ชิงเผา) ทุกปีและการทำแนวกันไฟ มีระดับความสำเร็จ ร้อยละ 73.60  อันดับ 5 มาตรการการจัดกำลัง เวรยาม อาสาสมัครดูแลไฟป่า มีระดับความสำเร็จ ร้อยละ 67.60 และอันดับ 6 มาตรการการติดตั้งอุปกรณ์ในการวัดค่าปริมาณฝุ่นละอองตามสถานที่ต่างๆ มีระดับความสำเร็จ ร้อยละ 66.00  เมื่อสอบถามวิธีการป้องกัน/รับมือ จากปัญหาหมอกควัน พบว่า ร้อยละ 92.58 มีการเตรียมตัวในการป้องกัน/รับมือ ปัญหาสถานการณ์หมอกควัน โดยอันดับ 1 ร้อยละ 99.64 มีการจัดหาอุปกรณ์ในการป้องกันและลดปัญหาหมอกควัน เช่น หน้ากากอนามัย เครื่องฟอกอากาศ อันดับ 2 ร้อยละ 95.49 มีการจัดเตรียมสถานที่อยู่อาศัยให้สะอาด เพื่อป้องกันการสะสมของฝุ่นควัน  อันดับ 3 ร้อยละ 92.55 มีการลด/เลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น การออกกำลังกายในที่โล่ง กลางแจ้ง มีเพียงร้อยละ 7.42 เท่านั้นที่ไม่ได้มีการเตรียมตัว  ซึ่งจากการสอบถามค่าใช้จ่ายในการป้องกันสุขภาพในสถานการณ์หมอกควันพบว่า มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,518 บาทต่อคนต่อปี เมื่อสอบถามความคิดเห็นถึงผลกระทบของปัญหาหมอกควันที่ส่งผลต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็งปอดหรือโรคระบบทางเดินหายใจของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.32 เห็นว่าหมอกควันจะส่งผลกระทบให้เกิดโรคต่างๆ ได้ มีเพียงร้อยละ 1.68 เท่านั้นที่เห็นว่าหมอกควันจะไม่ส่งผลกระทบทำให้เกิดโรคต่างๆ  และจากการสอบถามข้อเสนอแนะต่อการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือมีข้อเสนอแนะดังนี้ 1) ควรมีการนำบทลงโทษมาบังคับใช้กับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง 2) ต้องมีการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของผลกระทบและอันตรายที่เกิดขึ้นจากการเผาเพิ่มมากขึ้น 3) ควรจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาหมอกควันให้เหมาะสมและเพียงพอ

ปัญหาหมอกควันของภาคเหนือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นสะสมเป็นระยะเวลาหลายปี สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ทำให้หากมีการเผาในพื้นป่าและพื้นที่ทางการเกษตรของเกษตรกร รวมทั้งการเผาในภาคครัวเรือน ประกอบกับอิทธิพลของหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นและเกิดปัญหาเป็นประจำทุกปี โดยปัจจุบันสถานการณ์ของปัญหาหมอกควันในภาคเหนือถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ โดยจากการรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทยของกรมควบคุมมลพิษ  พบว่าคุณภาพอากาศของภาคเหนือมีค่าฝุ่นละอองที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชนเกือบตลอดทั้งเดือนมีนาคม 2566 (กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง : กรมควบคุมมลพิษ) ซึ่งแสดงให้เห็นว่านโยบายและงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหายังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหมอกควันได้ ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนนโยบายและงบประมาณที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาหมอกควันให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  เพื่อให้สถานการณ์การหมอกควันของภาคเหนือลดลง ให้พี่น้องประชาชนในเขตภาคเหนือมีอากาศที่บริสุทธิ์และมีสุขภาพที่ดีต่อไป

ผลสำรวจโพลล์ล่าสุด