ผู้เขียน: นางสาวเบญจวรรณ จันทร์แก้ว
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ (ภาคเหนือ ร้อยละ 47.00 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 23.36 ภาคกลาง ร้อยละ 27.00 และภาคใต้ ร้อยละ 2.64) จำนวนทั้งสิ้น 1,100 ราย ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 10 สิงหาคม 2563 ในหัวข้อ “ภาคการเกษตรไทย...จากวิกฤติ COVID-19” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรต่อผลกระทบที่ได้รับจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 รวมถึงโอกาสและอุปสรรคของการประกอบอาชีพด้านเกษตรในอนาคต
ผลการสำรวจภาคการเกษตรไทยในปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พบว่าส่วนใหญ่ ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 97.45 โดย อันดับ 1 ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ที่เป็นผลมาจากขายผลผลิตลดลง (ร้อยละ 72.45) อันดับ 2 ผลกระทบจากการจำกัดการขนส่งในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ไม่สามารถกระจายผลผลิตได้ (ร้อยละ 42.91) และอันดับ 3 ผลกระทบจากการถูกกดราคาและราคาผลผลิตตกต่ำ (ร้อยละ 40.36) มีเพียง ร้อยละ 2.55 ที่ไม่ได้รับผลกระทบ โดยให้เหตุผลว่าเป็นเกษตรกรรายย่อยที่ใช้ผลผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือนเท่านั้น
เมื่อสอบถามถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ในมุมมองด้านโอกาสและอุปสรรคต่ออาชีพด้านการเกษตร (สามารถเลือกตอบได้ทั้งโอกาสและอุปสรรค) พบว่า เกษตกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.00 เห็นว่าเป็นอุปสรรค โดยอันดับ 1 คือ ขาดรายได้จากการประกอบอาชีพนอกภาคการเกษตรอื่นๆ เช่น รับจ้างทั่วไป (ร้อยละ 66.45) อันดับ 2 คือ ขาดรายได้จากลูกหลานที่เคยทำงานอยู่นอกภาคการเกษตร (ร้อยละ 52.45) และอันดับ 3 คือ ผู้บริโภคหันมาปลูกผักหรือทำการเกษตรในครัวเรือนกันมากขึ้น ทำให้ขายผลผลิตได้ลดลง (ร้อยละ 39.00) แต่อย่างไรก็ตามเกษตรกร ร้อยละ 54.09 ที่เห็นว่าจะเป็นโอกาสของภาคการเกษตรเช่นกัน โดยอันดับ 1 มองว่าจะช่วยให้มีแรงงานในภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นจากการหยุดจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ (ร้อยละ 34.82) อันดับ 2 ทำให้มีการคิดค้นแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรมากขึ้น (ร้อยละ 27.73) และอันดับ 3 ทำให้มีโอกาสทำให้เกิดการพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับอาชีพด้านการเกษตร เช่น การขนส่งสินค้าด้านการเกษตร เป็นต้น (ร้อยละ 19.09)
การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลทำให้แต่ละประเทศรวมถึงประเทศไทยได้ออกมาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเข้มงวด เช่น การออกข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร โดยเฉพาะการห้ามเดินทางข้ามเขตพื้นที่ ทำให้เกิดการหยุดชะงักของการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การขนส่งกระจายสินค้า การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งส่งผลทำให้ภาคเกษตรได้รับผลกระทบจากการไม่สามารถกระจายผลผลิตได้ จากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาผลิตอาหาร เช่น การปลูกผักเพื่อบริโภคในครัวเรือน แต่อย่างไรก็ตามในภาวะวิกฤติดังกล่าว ย่อมมีโอกาสในการพัฒนาด้านธุรกิจหรืออาชีพ โดยเฉพาะด้านเกษตร เช่น การพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้านเกษตรให้หลากหลาย เพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศมากขึ้นโดยอาศัยการตลาดรูปแบบดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาระบบการขนส่งสินค้าเกษตร ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการช่วยส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรที่จะมุ่งใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น