ผู้เขียน : ดร.วีร์ พวงเพิกศึก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 403 ราย ระหว่างวันที่ 7 – 14 ตุลาคม 2563 ในหัวข้อ “ต้นยางนา ถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน เอกลักษณ์หรือปัญหา?”
มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ ถึงความคิดเห็นที่มีต่อต้นยางนาในบริเวณนั้น ผลการสำรวจพบว่าประชาชนชาวเชียงใหม่ และผู้สัญจรผ่านเส้นทางถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 88.81 รู้จัก หรือเคยเดินทางผ่านถนนสายต้นยาง มีเพียงร้อยละ 11.19 เท่านั้นที่ไม่รู้จัก และ/หรือไม่เคยเดินทางผ่านถนนสายเก่า เชียงใหม่-ลำพูน แต่อย่างไรก็ตาม กลับพบว่ามีเพียงร้อยละ 41.54 เท่านั้นที่ทราบถึงประวัติความเป็นมาของต้นยางนาบนถนนสายเก่า เชียงใหม่-ลำพูน ในขณะที่ร้อยละ 58.46 ไม่ทราบถึงประวัติความเป็นมา โดยเมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนชาวเชียงใหม่ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากต้นยางนาต่อผู้อยู่อาศัย/ผู้สัญจรผ่านถนนสายดังกล่าว พบว่าประชาชนร้อยละ 54.23 เห็นว่าต้นยางนาไม่ได้เป็นปัญหา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากต้นยางนาเป็นเอกลักษณ์ของถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน (ร้อยละ 68.81) เห็นว่าต้นยางนาสร้างความร่มรื่นให้กับบ้านเรือน/ร้านค้าบนถนนสายเก่าเชียงใหม่-ลำพูน (ร้อยละ 38.53) เห็นว่าต้นยางนาทำให้ระลึกถึงประวัติศาสตร์เรื่องราวที่ผ่านมาในอดีตตั้งแต่การก่อสร้างถนน (ร้อยละ 36.24) และเห็นว่าต้นยางนาจะเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ (ร้อยละ 29.82) ในขณะที่อีกร้อยละ 45.77 เห็นว่าต้นยางนาเป็นปัญหา โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากกิ่งหรือต้นของต้นยางล้มทับถนนกีดขวางเส้นทางจราจร (ร้อยละ 58.70) เนื่องจากกิ่งหรือต้นของต้นยางล้มทับบ้านเรือน/ร้านค้าของชาวบ้าน (ร้อยละ 52.17) ต้นและรากของยางนากีดขวางเส้นทางจราจร อาจทำให้เกิดอุบัติได้ (ร้อยละ 52.17) และต้นและรากของต้นยางนาทำให้ไม่สามารถขยายช่องทางจราจร (ถนน) ได้ (ร้อยละ 22.83)
เมื่อถามถึงแนวทางในการจัดการต้นยางนาที่มีอายุและทรุดโทรมลงเป็นอย่างมากในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.22 เห็นว่า ควรมีการอนุรักษ์/ฟื้นฟูให้อยู่ในสภาพเดิมที่สมบูรณ์ ในขณะที่ ร้อยละ 34.44 เห็นว่า ควรมีการตัดแต่งกิ่งต้นยางนาบางส่วนออก และมีเพียง ร้อยละ 4.34 ที่เห็นว่าควรตัดต้นยางนา ทิ้งทั้งหมด และเมื่อสอบถามถึงความต้องการและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการในการดูแลต้นยางนา รวมผู้อยู่อาศัย/ผู้สัญจรผ่านถนนสายดังกล่าวที่อาจได้รับผลกระทบจากต้นยางนาของภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนมีข้อเสนอแนะประกอบด้วย 1) ควรดูแลให้ต้นยางนาไม่ให้กระทบกับความปลอดภัยของบ้านเรือนและสร้างปัญหาด้านการจราจร 2) ควรมีหน่วยงานที่รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยการชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบ 3) ควรมีการตัดแต่งกิ่ง และรากออกบางส่วน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย และ 4) ควรอนุรักษ์และฟื้นฟู ให้มีความสวยงาม และร่มรื่น
เส้นทางถนนสายเก่า เชียงใหม่-ลำพูน ถือเป็นเส้นทางที่มีเอกลักษณ์ ด้วยการที่ตลอดเส้นทางดังกล่าว มีต้นยางนาอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับในช่วงฤดูแล้ง จะมีดอกกล้วยไม้ที่ถูกติดไว้รอบต้นยางนาเบ่งบานสวยงาม ทำให้เส้นทางดังกล่าวมีความสวยงาม สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ที่สัญจรผ่าน แต่อย่างไรก็ตามด้วยต้นยางนามีอายุและทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก อาจทำให้กิ่งก้านต้นยางนาบางส่วนหัก ส่งผลต่อผู้ที่อยู่อาศัยและสัญจรไปมา การจะอนุรักษ์ให้เส้นทางถนนสายเก่า เชียงใหม่-ลำพูนให้มีความสวยงาม และเป็นประทับใจของผู้คนที่สัญจรผ่านเส้นทางดังกล่าวจึงต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงข้อดีข้อเสียที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัยในการสัญจร รวมถึงอาคารที่พักอาศัยและประชาชนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งจากผลสำรวจจะเห็นได้ว่าประชาชนยังคงต้องการให้มีการอนุรักษ์ต้นยางนาไว้ เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ที่สวยงามของพื้นที่ เพียงแต่ประชาชนต้องการให้มีหน่วยงานหลักในการดูแล และบำรึงรักษาต้นยางนา เพื่อให้เกิดความสวยงามและมีความปลอดภัยแก่ผู้ที่สัญจรไปมา และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ เพื่อที่จะให้คนและต้นไม้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนต่อไป