โครงการประเมินผลกระทบจากงานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ปี 2564

        

บทสรุปผู้บริหาร (Exclusive Summary)

     การประเมินผลกระทบจากงานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นการติดตามผลสัมฤทธิ์และผลกระทบจากการดำเนินงานวิจัยต่อชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลกระทบของงานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และเพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์สำหรับการวิจัยและพัฒนางานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในระยะต่อไป ในการประเมินผู้วิจัยได้กำหนดกรอบการประเมินผลที่ได้รับจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านงานวิจัยด้านลำไย จำนวน 2 ด้าน ประกอบด้วย 1) ผลกระทบทางเศรษฐกิจ และ2) ผลกระทบทางสังคม และประเมินถึงประโยชน์ที่ได้จากกงานวิจัยจำนวน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) ประโยชน์เชิงวิชาการ 2) ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 3) ประโยชน์เชิงสาธารณะ และ 4) ประโยชน์เชิงนโยบาย โดยผู้วิจัยใช้ทฤษฎีระบบ (System Theory) เป็นกรอบกระบวนการในการประเมินผลโดยกระบวนการในการประเมินประกอบด้วย การวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เป็นการวิจัยเอกสารงานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 96 โครงการ การวิจัยเชิงสำรวจ(Survey Research) เป็นการใช้แบบสัมภาษณ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของเกษตรกรในชุมชนที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และการจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) ในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1) เกษตรกรในชุมชนที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 7 ชุมชน 2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัยด้านลำไยร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จำนวน 11 หน่วยงาน 3) ผู้ประกอบการที่นำองค์ความรู้จากการวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์ จำนวน 8 แห่ง  และ 4) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ที่ได้รับทุนวิจัยด้านลำไยจากแหล่งทุนจากภายในหรือภายนอกมหาวิทยาลัย โดยผลการศึกษาสามารถนำเสนอได้ดังนี้

  1. ผลผลิต (Output) พบว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากงานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ส่วนใหญ่เป็นประโยชน์เชิงวิชาการ รองลงมา เป็นประโยชน์เชิงพาณิชย์ ประโยชน์เชิงนโยบาย และประโยชน์เชิงสาธารณะ ตามลำดับ สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากการงานวิจัย พบว่า งานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตลง ร้อยละ 41.95 และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตขึ้นร้อยละ 63.71 ส่งผลให้เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจผลิตทางการเกษตรได้อย่างเหมาะสม โดยสามารถทำให้เกษตรกรทราบถึงความคุ้มค่าในการลงทุน และผลตอบแทนที่ควรจะได้รับช่วยลดโอกาสในการขาดทุนที่จะก่อให้เกิดปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ในขณะที่ผลกระทบทางสังคม พบว่างานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ช่วยให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้แก่เกษตรกรและชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายความรู้ระหว่างเกษตรกรภายในชุมชน ช่วยให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็งในชุมชน ซึ่งกลุ่มดังกล่าวยังทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนชุมชนในด้านต่าง ๆ เป็นกำลังหลักในการทำงานร่วมกับชุมชน เช่น การให้ความช่วยเหลืองานของชุมชน และช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการทำการเกษตรอย่างปลอดภัย หรือปลอดสารพิษเกิดความรู้สึกปลอดภัยกับชีวิตของคนในครอบครัว ทำให้มีสุขภาพกายที่ดี ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของครัวเรือนเกษตรกร และชุมชนดีขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้บริโภคได้บริโภคผลผลิตที่ไร้สารพิษตกค้าง เป็นการส่งเสริมให้เกิดสุขอนามัยที่ดีแก่สังคมอีกทางหนึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และยุทธศาสตร์สำหรับงานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อใช้วางแผนในการทำงานวิจัยด้านลำไย ประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ควรเร่งดำเนินการ และให้ความสำคัญกับงานวิจัยปลายน้ำ เนื่องจากงานวิจัยปลายน้ำเป็นงานวิจัยที่จะชี้นำว่าองค์ความรู้ประเภทใดมีความจำเป็นและความเหมาะสมต่อการส่งเสริมและพัฒนา เพื่อที่จะศึกษาเกี่ยวกับการตลาดการศึกษาด้านการตลาด ทั้งนี้เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ความเห็นว่าการพัฒนาลำไย ต้องอยู่บนพื้นฐานความต้องการของตลาดเป็นหลัก หากทราบถึงความต้องการของตลาดก็จะทำให้องคาพยพที่เกี่ยวข้องด้านลำไยสามารถวางแผนในการพัฒนาผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ 2) วางแผนพัฒนาด้านงานวิจัยต้นน้ำ เพื่อให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ที่เพียงพอต่อการพัฒนาความสามารถในการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด3) การพัฒนางานวิจัยกลางน้ำ ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และรักษาคุณภาพผลผลิตของลำไย โดยอาศัยองค์ความรู้และเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และการแปรรูปผลผลิต4) ปัจจัยแวดล้อมที่ควรพิจารณา เพื่อส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ประกอบด้วย 4.1) ปัจจัยสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่ศึกษา 4.2) คุณสมบัติของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ 4.3) การเตรียมความพร้อมของนักวิจัย 4.4) การสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการ 5) การสร้างยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกรมีแนวทางประกอบด้วย 5.1) นักวิจัยต้องค้นหาเกษตรกรที่มีความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เรียนรู้และเข้าใจเทคโนโลยีได้รวดเร็วเป็นแกนหลักในการร่วมทำงานวิจัย 5.2) ควรมีการจัดทำแปลงสาธิตการใช้นวัตกรรม/เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในการใช้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์แก่เกษตรกรให้เกิดการยอมรับเทคโนโลยีได้ง่ายขึ้น 5.3) การสร้างเจ้าหน้าที่ภาครัฐเป็นผู้เชื่อมโยงองค์ความรู้และเทคโนโลยีระหว่างนักวิจัย กับเกษตรกรในพื้นที่ 6) การจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลงานวิจัยด้านลำไยอย่างเป็นระบบ เพื่อการต่อยอดงานวิจัยเพื่อสร้างความยั่งยืนในการพัฒนางานวิจัยด้านลำไยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยประกอบด้วย 1) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ควรมีหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการวิจัย และนำงานวิจัยไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ 2) มหาวิทยาลัยแม่โจ้ควรมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยลำไยแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการลำไยตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยเป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ที่ใช้ในการผลิตและบริหารจัดการสวนลำไย รวมถึงเป็นหน่วยงานที่ช่วยในการวางแผนยุทธศาสตร์การทำงานวิจัยด้านลำไยของประเทศไทยต่อไป
  1. ผลลัพธ์ (Outcome) และผลกระทบ (Impact) ผู้วิจัยได้ลำดับความสำคัญของโจทย์วิจัยที่เป็นที่ต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจและสังคมแก่อุตสาหกรรมลำไยของประเทศไทยประกอบด้วย 1) การศึกษาความต้องการของตลาด โดยต้องศึกษาความต้องการของทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ เพื่อทราบรูปแบบของผลผลิต และปริมาณความต้องการของตลาดเป้าหมาย2) การศึกษาถึงกฎระเบียบข้อบังคับ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกผลผลิตลำไย โดยเป็นการศึกษาเพื่อทราบถึงกฎเกณฑ์ที่เกษตรกรผู้ผลิตลำไยเพื่อการส่งออกต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้คุณภาพของผลผลิตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประเทศปลายทาง 3) การสร้างงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับรูปแบบ/ความสามารถในการยอมรับเทคโนโลยีของเกษตรกร โดยหากเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ เกษตรกรหัวก้าวหน้า ควรส่งเสริมเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่มีความใหม่ มีความซับซ้อน และต้องอาศัยทุนความรู้รวมถึงทุนทรัพย์ เช่น การพัฒนาองค์ความรู้แบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farm) ที่สามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการดูแลแปลงของเกษตรกร เพื่อลดการใช้แรงงาน และลดเวลาในการดูแล ในขณะที่เกษตรกรดั้งเดิม เกษตรกรที่เป็นผู้สูงอายุ ควรมีการส่งเสริมองค์ความรู้ที่เกษตรกรสามารถยอมรับเทคโนโลยีได้ง่าย มีต้นทุนในการนำเทคโนโลยีมาใช้ต่ำ โดยมีเป้าหมายหลักในการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร มากกว่าการมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิต 4) การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการจัดการแรงงานภาคการเกษตร เนื่องจากปัญหาด้านแรงงานส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างมาก โดยการศึกษาวิจัยในประเด็นด้านแรงงาน ควรพิจารณา 2 ประเด็นหลัก ๆ ประกอบด้วย 4.1) การพัฒนานวัตกรในชุมชน ที่จะเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ในการดูแลสวนลำไย โดยทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสวนให้แก่เกษตรกร 4.2) การศึกษาแนวทางเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยการสร้างความเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐที่จะสามารถนำเข้าแรงงานต่างชาติ ที่มีค่าแรงงานต่ำมาช่วยชดเชยการขาดแรงงานในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และ 4.3) การพัฒนาฝีมือแรงงานต่างด้าว ให้มีความชำนาญในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่ได้มาตรฐานของผู้รับซื้อผลผลิต 5) การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนากลุ่มเกษตรกร โดยมุ่งเน้นการพัฒนาในประเด็นสำคัญ ๆ ประกอบด้วย 5.1) การสร้างความเข้มแข็งแบบยั่งยืนให้กลุ่มเกษตรกรสามารถแข่งขันกับเอกชนได้ โดยต้องเพิ่มทั้งความรู้ในการบริหารจัดการกลุ่มในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน หรือบริษัท 5.2) การพัฒนาตัวช่วยเกษตรกรเพื่อตัดสินใจในการผลิต เช่น เครื่องมือ หรือตัวช่วยตัดสินใจในการตัดแต่งกิ่งลำไย ที่จะช่วยทำให้ได้ผลผลิตมากที่สุด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของนวัตกรบริการ หรือเทคโนโลยีช่วยในการตัดสินใจจากการใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งจะทำหน้าที่ช่วยในการตัดสินใจแทนเกษตรกร 6) งานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาผู้ประกอบการ และการเริ่มธุรกิจใหม่ของเกษตรกรที่เกี่ยวข้องกับการขายผลผลิตลำไย (Start-up) เพื่อเป็นจักรกลสำคัญในการเชื่อมโยงผลผลิตกับตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ