ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2562

        

เขียนโดย: ดร.อนุพันธ์ุ  สมบูรณ์วงศ์

   ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2562 จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตร และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย โดยทำ     การสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลจากการเก็บแบบสอบถามเกษตรกรทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ถึง 30 สิงหาคม 2562 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้คัดเลือกโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Sampling) ตามความหนาแน่นของพื้นที่การผลิตหรือเพาะปลูกในแต่ละภูมิภาค โดยอาศัยข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2561) ที่ทำการผลิตใน 5 สาขาการผลิตภาคการเกษตร ได้แก่

1) พืชไร่ ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย           จำนวน    555 ตัวอย่าง

2) ไม้ยืนต้น ประกอบด้วย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน                              จำนวน    244 ตัวอย่าง

3) ไม้ผล ประกอบด้วย ลำไย มะม่วง ทุเรียน มังคุด เงาะ และส้ม                 จำนวน    208  ตัวอย่าง

4) พืชผัก ประกอบด้วย มันฝรั่ง หอมแดง กระเทียม และผักชนิดต่างๆ            จำนวน      58 ตัวอย่าง

5) ปศุสัตว์ ประกอบด้วย สุกร โคนม โคเนื้อ ไก่ เป็ด และปลาชนิดต่างๆ          จำนวน      65 ตัวอย่าง

 รวม        จำนวน 1,130   ตัวอย่าง

  1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย

   ผลการสำรวจข้อมูลความเชื่อมั่นต่อองค์ประกอบต่างๆ ในการทำการเกษตรของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง ในปีปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561) พบว่า เกษตรกรมีความเชื่อมั่นต่อองค์ประกอบต่างๆ ในการทำการเกษตรในปีปัจจุบันเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับ 51.58  โดยแบ่งออกเป็น ปริมาณผลผลิต อยู่ในระดับ 56.31 ปริมาณช่องทางการตลาดสำหรับขายผลผลิต อยู่ในระดับ 55.57 รายได้ อยู่ในระดับ 53.25 ความเพียงพอของแรงงาน อยู่ในระดับ 52.69 ราคาผลผลิต อยู่ในระดับ 52.06 และต้นทุนการผลิต อยู่ในระดับ 39.58 ตามลำดับ ดังภาพที่ 1 (ก)  

   สำหรับการคาดการณ์ความเชื่อมั่นต่อองค์ประกอบต่างๆ ในการทำการเกษตรของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง ในปีหน้า (พ.ศ. 2563) เปรียบเทียบกับปีปัจจุบัน (พ.ศ. 2562) คาดว่า ความเชื่อมั่นต่อองค์ประกอบต่างๆ ในการทำการเกษตรในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีปัจจุบัน อยู่ในระดับ 54.03 โดยแบ่งออกเป็น  ปริมาณผลผลิต อยู่ในระดับ 58.43 ปริมาณช่องทางการตลาดสำหรับขายผลผลิต อยู่ในระดับ 57.83 รายได้ อยู่ในระดับ 56.52 ราคาผลผลิต อยู่ในระดับ 55.70 ความเพียงพอของแรงงานอยู่ในระดับ 54.61 และต้นทุนการผลิต อยู่ในระดับ 41.05 ตามลำดับ ดังภาพที่ 1 (ข)

    จากผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ในภาคการเกษตรของประเทศไทย ในมุมมองของเกษตรกรมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา และจะดีขึ้นอีกในปีถัดไป (พ.ศ. 2563)    โดยองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ในภาคการเกษตรมีแนวโน้มดีขึ้น คือ ปริมาณผลผลิต และปริมาณช่องทางการตลาดสำหรับขายผลผลิต

 

  1. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย

   ผลการสำรวจข้อมูลปัจจัยและระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นในการทำการเกษตรมากที่สุด คือ ราคาน้ำมันและค่าขนส่ง (2.52 คะแนน) รองลงมา ได้แก่ ราคาปัจจัยการผลิต (2.36 คะแนน) สภาพอากาศ (2.35 คะแนน) สภาวะเศรษฐกิจของไทย (2.34 คะแนน) ความขัดแย้งทางการเมือง (2.34 คะแนน) อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (2.33 คะแนน) สภาวะเศรษฐกิจโลก (2.24 คะแนน) ปริมาณน้ำฝน (2.23 คะแนน) การแข่งขันในตลาด (2.19 คะแนน) และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล (1.99 คะแนน) ตามลำดับ โดยปัจจัยข้างต้นมีระดับความรุนแรงของผลกระทบอยู่ในระดับมาก ยกเว้นสภาวะเศรษฐกิจโลก ปริมาณน้ำฝน การแข่งขันในตลาด และนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีระดับความรุนแรงของผลกระทบอยู่ในระดับปานกลาง

   จากผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากต้นทุนการผลิต (ราคาปัจจัยการผลิต ราคาน้ำมันและค่าขนส่ง) และสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ (ปริมาณน้ำฝน และสภาพอากาศ) ยิ่งไปกว่านั้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สภาพเศรษฐกิจ และความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศไทย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการเกษตรในทุกสาขาการผลิต