ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2564

        

เขียนโดย: ชุมพลภัทร์  คงธนจารุอนันต์

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2564 จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตร และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย โดยทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลจากการเก็บแบบสอบถามเกษตรกรทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ถึง 31 กรกฎาคม 2564 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้คัดเลือกโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Sampling) ตามความหนาแน่นของพื้นที่การผลิตหรือเพาะปลูกในแต่ละภูมิภาค โดยอาศัยข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2562) ที่ทำการผลิตใน 5 สาขาการผลิตภาคการเกษตร ได้แก่

1) พืชไร่ ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย        จำนวน 1,293      ตัวอย่าง

2) ไม้ยืนต้น ประกอบด้วย ยางพารา และปาล์มน้ำมัน                          จำนวน    324 ตัวอย่าง

3) ไม้ผล ประกอบด้วย ลำไย มะม่วง ทุเรียน มังคุด เงาะ และส้ม              จำนวน    226     ตัวอย่าง

4) พืชผัก ประกอบด้วย มันฝรั่ง หอมแดง กระเทียม และผักชนิดต่าง ๆ       จำนวน    156 ตัวอย่าง

5) ปศุสัตว์ ประกอบด้วย สุกร โคนม โคเนื้อ ไก่ เป็ด และปลาชนิดต่าง ๆ      จำนวน    113 ตัวอย่าง

                                                                            รวม    จำนวน 2,112 ตัวอย่าง

  1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย

ผลการสำรวจข้อมูลความเชื่อมั่นต่อองค์ประกอบต่างๆ ในการทำการเกษตรของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง ในปีปัจจุบัน (พ.ศ. 2564) เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563) พบว่า เกษตรกรมีระดับความเชื่อมั่นต่อองค์ประกอบต่างๆ ในภาพรวมการทำการเกษตรในปีปัจจุบันอยู่ในระดับดี โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา โดยพบว่า ด้านปริมาณการผลิต ด้านรายได้ ด้านปริมาณช่องทางการตลาดสำหรับขายผลผลิต ด้านราคาผลผลิต ด้านความเพียงพอของแรงงาน และด้านต้นทุนการผลิต มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น โดยมีเพียงด้านต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ที่แย่ลง ดังภาพที่ 1 (ก)  

     สำหรับการคาดการณ์ความเชื่อมั่นต่อองค์ประกอบต่าง ๆ ในการทำการเกษตรของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง ในปีหน้า (พ.ศ. 2564) เปรียบเทียบกับปีปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) คาดว่า ความเชื่อมั่นต่อองค์ประกอบต่าง ๆ ในการทำการเกษตรในปีหน้าอยู่ในระดับดี โดยจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีปัจจุบัน โดยพบว่า  ด้านรายได้ ด้านปริมาณผลผลิต ด้านราคาผลผลิต ด้านปริมาณช่องทางการตลาดสำหรับขายผลผลิต และด้านความเพียงพอของแรงงาน มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น โดยมีเพียงด้านต้นทุนการผลิตที่เกษตรกรมีความเชื่อมั่นว่าสถานการณ์ที่แย่ลง ดังภาพที่ 1 (ข)

     จากผลการศึกษาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์ในภาคการเกษตรของประเทศไทยในมุมมองของเกษตรกรมีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา และจะดีขึ้นอีกในปีถัดไป (พ.ศ. 2565) โดยองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สถานการณ์ในภาคการเกษตรมีแนวโน้มดีขึ้น คือ ปริมาณผลผลิต ปริมาณช่องทางการตลาดสำหรับขายผลผลิต และความเพียงพอของแรงงาน

 

  1. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย

ผลการสำรวจข้อมูลปัจจัยและระดับความรุนแรงของผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง โดยพบว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นในการทำการเกษตรมากที่สุด คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 รองลงมาคือ ปัจจัยด้านราคาปัจจัยการผลิต ปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจโลก ปัจจัยด้านความขัดแย้งทางการเมือง  ปัจจัยด้านสภาพอากาศ  ปัจจัยด้านสภาวะเศรษฐกิจของไทย ปัจจัยด้านปริมาณน้ำฝน ราคาน้ำมันและค่าขนส่งที่มีระดับความรุนแรงของผลกระทบอยู่ในระดับมาก โดยมีเพียงปัจจัยด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ปัจจัยด้านการแข่งขันในตลาด และปัจจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีระดับความรุนแรงของผลกระทบอยู่ในระดับปานกลาง