ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย ปี พ.ศ.2565 (ไตรมาส 1-2)

        

เขียนโดย: นางสาวเบญจวรรณ  จันทร์แก้ว

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย ปี พ.ศ.2565 จัดทำขึ้นโดยศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย แนวโน้มความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในภาคเกษตรของประเทศไทย โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 2,150 ราย (ภาคเหนือ ร้อยละ 34.06 ภาคกลาง ร้อยละ 26.29 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 29.64 และภาคใต้ ร้อยละ 10) ระหว่างเดือน มีนาคม – สิงหาคม 2565 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้คัดเลือกโดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Sampling) ตามความหนาแน่นของพื้นที่การผลิตหรือเพาะปลูกในแต่ละภูมิภาค โดยอาศัยข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (2562) ที่ทำการผลิตใน 6 สาขาการผลิตภาคการเกษตร ได้แก่

1) พืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อยและถั่วต่างๆ จำนวน 1,211 ตัวอย่าง

2) ไม้ยืนต้น เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน จำนวน 105 ตัวอย่าง

3) ไม้ผล เช่น ลำไย มะม่วง ทุเรียน อะโวคาโด้และมะยงชิด เป็นต้น จำนวน 374 ตัวอย่าง

4) พืชผัก เช่น ผักกาดกวางตุ้ง คะน้า กระเทียม เป็นต้น จำนวน 199 ตัวอย่าง

5) ปศุสัตว์ เช่น หมู โค กระบือ แพะ ไก่ นกกระทา เป็นต้น จำนวน 226 ตัวอย่าง

6) ประมง ได้แก่ ปลา กบ กุ้ง เป็นต้น จำนวน 35 ตัวอย่าง

รวมจำนวน 2,150 ตัวอย่าง

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย ปี พ.ศ.2565 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ.2564 ในภาพรวมอยู่ที่ระดับ 43.65 โดยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในรายละเอียดพบว่า เกษตรกรมีความเชื่อมั่น ดังนี้

  • ด้านความเพียงพอของแรงงาน อยู่ที่ระดับ 56.16
  • ด้านปริมาณผลผลิต อยู่ที่ระดับ 55.83
  • ด้านตลาดขายผลผลิต อยู่ที่ระดับ 46.07
  • ด้านราคาผลผลิต อยู่ที่ระดับ 37.28
  • ด้านรายได้ (กำไร) อยู่ที่ระดับ 36.89
  • ด้านต้นทุนการผลิต อยู่ที่ระดับ 29.64

จากข้อมูลจะเห็นว่าดัชนีความเชื่อมั่นด้านต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับต่ำที่สุด คือระดับ 29.64 ทั้งนี้เป็นผลมาจากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศไทย จากภาวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่ส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ ปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะปุ๋ยเคมี และเคมีภัณฑ์ทางการเกษตร ได้ปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อความเชื่อมั่นด้านต้นทุนการผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตร ปี พ.ศ.2565 จำแนกตามรายภาค พบว่า เกษตรกรมีความเชื่อมั่นในด้านต้นทุนการผลิตต่ำที่สุดในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยที่ภาคเหนือมีความเชื่อมั่นในด้านปริมาณผลผลิตสูงที่สุด (ระดับ 56.23) ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีระดับความเชื่อมั่นต่อความเพียงพอของแรงงาน อยู่ในระดับสูงสุด (ระดับ 56.69, 56.28 และ 58.69)