การวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตและตลาดผลผลิตลำไยของภาคเหนือ ปี 2564
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิและพยากรณ์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการพรรณนาจากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์การผลิตและตลาดผลผลิตลำไยของ 10 จังหวัดภาคเหนือ ปี 2564 ด้านสถานการณ์การผลิตในภาพรวมพบว่าจะมีปริมาณผลผลิตรวม 813,820.07 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตของปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นผลผลิตในฤดู (เก็บเกี่ยวผลผลิตมิถุนายน – กันยายน 2564) เนื่องจากในปีนี้ไม่พบปัญหาฝนทิ้งช่วงนาน และเกษตรกรหันมาดูแลเอาใจใส่มากขึ้น โดยจะมีผลผลิตมากที่สุดในเดือนสิงหาคม ประมาณ 569,674.04 ตัน แต่อย่างไรก็ตามก็จะมีบางพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลูกเห็บ ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้บางพื้นที่ปลูกลำไยของจังหวัดเชียงใหม่ มีผลผลิตเสียหายประมาณร้อยละ 50 ของพื้นที่ สำหรับสถานการณ์ด้านการตลาดจากการสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง2 พบว่า ในปี 2564 นี้ คาดการณ์ว่าราคาจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15-20 หรือประมาณ 10 - 15 บาท/กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับราคาผลผลิตลำไยในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยราคาลำไยในช่วงต้นฤดูกาลแบบตะกร้า (มัดช่อ) จะมีราคาประมาณ 30 - 35 บาท/กิโลกรัม และจะค่อย ๆ ลดลงจนเหลือประมาณไม่ต่ำกว่า 25 บาท/กิโลกรัม เมื่อปริมาณลำไยส่วนใหญ่ออกสู่ตลาด ส่วนลำไยแบบร่วงในปีนี้ราคาจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา โดยขนาด AA จะมีราคาประมาณ 20 - 25 บาท/กิโลกรัม ขนาด A จะมีราคาประมาณ 10 - 15 บาท/กิโลกรัม และ B จะมีราคาไม่เกิน 10 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ โดยตลาดหลักของผลผลิตลำไยในฤดูของไทยยังคงเป็นประเทศจีน ที่ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจที่ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตรได้รับข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องในกลุ่มต่างๆ และการลงพื้นที่เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล พบว่า 1) จากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ทำให้เกษตรกรหลายรายตัดสินใจทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับบริษัทเอกชน ซึ่งเป็นการขายลำไยแบบเหมาสวนให้กับล้งหรือพ่อค้ารายย่อย ส่วนการขายแบบร่วงจะหมุนเวียนลงแขกกันเก็บเกี่ยวเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ 2) กลุ่มผู้ประกอบการ ต้องการให้ภาครัฐเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ผลิตลำไยได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติติทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agricultural Practices (GAP) เพื่อให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติให้สอดคล้องกับพิธีการว่าด้วยข้อกำหนดด้านการกักกันโรค และการตรวจสอบสำหรับสินค้าผลไม้เมืองร้อนที่ส่งออกจากประเทศไทยไปสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าการส่งออกสินค้าลำไยเป็นไปตามข้อกำหนดและลดปัญหาสินค้าลำไยไม่ผ่านมาตรฐาน ผู้เขียน: นางสาวเบญจวรรณ จันทร์แก้ว