ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2567
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะลักษณะพื้นที่ของประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมสำหรับการทำเกษตรกรรม กล่าวคือพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่ม มีแม่น้ำไหลผ่าน สภาพภูมิอากาศมีความเหมาะสม และมีปริมาณน้ำฝนที่พอเพียงในฤดูกาลเพาะปลูก ภาคเกษตรนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก จากข้อมูลการทำสำมะโนการเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรในภาคเกษตรมากถึง 9.2 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 10.92 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 27.25 ของประชากรวัยแรงงานทั้งหมดของประเทศ นับว่าเป็นแหล่งรองรับแรงงานขนาดใหญ่ของประเทศ ทั้งนี้ ภาคเกษตรยังสามารถสร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศเฉลี่ยประมาณ 2.03 ล้านบาท ในแต่ละปี หรือคิดเป็นร้อยละ 11.85 ของมูลค่าการค้ารวมทุกสินค้า โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา ทุเรียนอ้อย และมันสำปะหลัง ที่ไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2565) (depa.or.th, 2566) (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2566)
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการแข่งขันในภาคการเกษตรได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยต่างๆ จากทั้งในและนอกประเทศที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมันและค่าขนส่ง ราคาปัจจัยการผลิต การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สภาวะเศรษฐกิจของไทยและของโลก หรือนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร จึงได้ดำเนินงานจัดทำโครงการดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย เพื่อสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลองค์ประกอบ (ตัวชี้วัด) และปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการทำการเกษตร สำหรับจัดทำผลการวิเคราะห์ดัชนีความเชื่อมั่นภาคการเกษตรของประเทศไทย และเผยแพร่ให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปต่อไป