การพยากรณ์ปริมาณผลผลิตและราคาลำไยตามฤดูกาล (ภาคเหนือ) ปีการผลิต 2563
ลำไยเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญ สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล มีพื้นที่เพาะปลูกในประเทศมากกว่า 1.20 ล้านไร่ ซึ่งแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญร้อยละ 73.58 ของพื้นที่อยู่ทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และพะเยา ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จันทบุรี และสระแก้ว1 ซึ่งผลผลิตลำไยของประเทศไทยในแต่ละปี นอกจากนำไปบริโภคภายในประเทศแล้ว ยังมีการส่งออกในลักษณะต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งลำไยสด ลำไยอบแห้ง ลำไยแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ลำไย ซึ่งตลาดส่งออกลำไยสดที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ส่วนลำไยอบแห้งมีตลาดใหญ่ที่สุด คือ เวียดนาม จีน และเมียนมา โดยในปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกลำไยสด 20,812 ล้านบาท ลำไยอบแห้ง 8,780 ล้านบาท ลำไยแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ลำไย 882 ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 30,474 ล้านบาท2 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 5.94 สำหรับปริมาณผลผลิตและราคาลำไยตามฤดูกาลของภาคเหนือปี 2563 จะไปในทิศทางใดนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้ทำการวิเคราะห์และพยากรณ์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการพรรณนาจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ3 ซึ่งพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตและราคาลำไยตามฤดูกาลของภาคเหนือปีการผลิต 2563 นี้ ผลการวิเคราะห์พบว่า
ปริมาณผลผลิตลำไยตามฤดูกาล (เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน) จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 5 - 10 เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผลผลิตในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 เนื่องจาก สภาพภูมิอากาศไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ไม่มีโรคแมลงระบาด ทำให้ต้นลำไยออกดอกและติดผลได้ดี แม้ว่าในบางพื้นที่จะประสบกับปัญหาความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และพะเยา ทำให้ลำไยติดน้อย และผลมีขนาดเล็ก ไม่ได้มาตรฐาน แต่อย่างไรก็ตามปริมาณผลผลิตในภาพรวมก็ยังถือว่ามีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา
ส่วนราคาลำไยตามฤดูกาลที่เกษตรกรได้รับ ในปี 2563 นี้ คาดการณ์ว่าราคาจะมีการเปลี่ยนแปลงลดลงเล็กน้อยประมาณร้อยละ 10 -20 หรือประมาณ 5 – 10 บาท/กิโลกรัม เมื่อเปรียบเทียบกับราคาผลผลิตลำไยในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 เนื่องจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID19 ทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาการส่งออกสินค้าทางการเกษตรไปยังประเทศต่าง ๆ โดยราคาลำไยในช่วงต้นฤดูกาลแบบตะกร้า (มัดช่อ) จะมีราคาประมาณ 25 - 30 บาท/กิโลกรัม และจะค่อย ๆ ลดลงจนเหลือประมาณ 20 – 25 บาท/กิโลกรัม เมื่อปริมาณลำไยส่วนใหญ่ออกสู่ตลาด ส่วนลำไยแบบร่วงในปีนี้ราคาจะลดลงเล็กน้อย โดยขนาด AA อาจจะมีราคาประมาณ 10 - 15 บาท/กิโลกรัม ขนาด A อาจจะมีราคาประมาณ 5 - 10 บาท/กิโลกรัม และขนาด B อาจจะมีราคาประมาณ 2 - 5 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ ที่ทางศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตรได้รับข้อมูลจากการลงพื้นที่สังเกตและสัมภาษณ์เกษตรกรในพื้นที่3 พบว่า ปัญหาเกี่ยวกับลำไยตามฤดูกาลของภาคเหนือที่สำคัญและควรเร่งแก้ไขเป็นอันดับแรก คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการเก็บผลผลิตและการคัดลำไย เนื่องจากแรงงานไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตลำไยในพื้นที่ ทำให้เกิดปัญหาต้นทุนในการเก็บเกี่ยวผลผลิตที่สูง และยังทำให้การขายลำไยแบบมัดช่อที่ได้ราคาสูงกว่าไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากมีค่าจ้างแรงงานที่สูง มีความเสี่ยงต่อการตรวจสอบขนาดของลำไยจากผู้รับซื้อ และใช้เวลาในการคัดลำไยมากกว่าการขายแบบรูดร่วง ซึ่งจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานดังกล่าวทำให้เกษตรกรหลายรายตัดสินใจขายลำไยแบบเหมาสวนให้กับล้งหรือพ่อค้ารายย่อย และจากการสัมภาษณ์ล้ง หรือผู้รับซื้อผลผลิตลำไย เพื่อส่งออกขายในต่างประเทศ พบว่า เกษตรกรผู้ผลิตลำไยในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติติทางการเกษตรที่ดี หรือ Good Agricultural Practices (GAP) ทำให้ผลผลิตลำไยจากแปลงที่เกษตรกรนำมาขายให้ล้ง หรือผู้รับซื้อผลผลิตลำไย ไม่สามารถส่งออกขายในต่างประเทศได้ ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรเร่งถ่ายทอดและส่งเสริมองค์ความรู้ในการปรับเปลี่ยนการผลิตลำไยของเกษตรกร เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรผู้ผลิตลำไยได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติติทางการเกษตรที่ดี (GAP) นอกจากนี้ควรหาวิธีการรับรองมาตรฐานดังกล่าวให้กับเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำการเกษตร ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาการตลาดของผลผลิตลำไยอีกทางหนึ่ง
ผู้เขียน: ดร.อนุพันธุ์ สมบูรณ์วงศ์