บทความคาดการณ์การผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของประเทศไทย (ลำไยภาคเหนือ ปี 2565)
ลำไยพืชเศรษฐกิจที่สำคัญโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ปลูกกันมากในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย น่านและพะเยา จากข้อมูลสถานการณ์ด้านการผลิตลำไยของภาคเหนือ พบว่าตั้งแต่ ปี 2560-2564 มีแนวโน้มพื้นที่ปลูกลำไยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2560 มีพื้นที่ปลูก 1,451,714 ไร่ เป็น 1,655,036 ไร่ ในปี 2564 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.13 ต่อปี (ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2564) ซึ่งเป็นผลมาจากการส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงการเลิกปลูกไม้ผลอย่างเช่นลิ้นจี่ของเกษตรกรในบางพื้นที่ ส่งผลพื้นที่ให้ผลลำไยเพิ่มขึ้นดังข้อมูลข้างต้น ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ “Covid-19” ไม่น้อย ทั้งด้านการปิดเมืองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ทำให้ไม่สามารถกระจายผลผลิตได้ รวมถึงด้านการส่งออกที่มีขั้นตอนที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น (ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 2564) แม้ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ “Covid-19” จะดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อสถานการณ์ด้านการผลิตและตลาดของสินค้าลำไย ซึ่งศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากการรวบรวมและเผยแพร่ไว้ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือ พบว่า
สถานการณ์ด้านการผลิตลำไยภาคเหนือ
- การผลิตลำไยของภาคเหนือส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตในฤดู โดยจะเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือน มิถุนายน - สิงหาคม โดยในปี 2565 นี้ คาดการณ์ว่าผลผลิตลำไยของภาคเหนือในภาพรวมจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัน หรือประมาณร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา (ที่มา:เชียงใหม่นิวส์, 2565) โดยเกิดจากปัจจัย ดังนี้
- สภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นในช่วงปลายปี 2564 ประกอบกับมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตลำไยเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา แม้เกษตรกรจะลดปริมาณการใส่ปุ๋ยและพ่นสารเร่งดอกก็ตาม อย่างไรก็ตามในบางพื้นที่ก็ประสบปัญหาผลผลิตเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดฝนตกหนัก พายุลมแรง
สถานการณ์ด้านการตลาดลำไยภาคเหนือ
- การขายผลผลิตลำไยของภาคเหนือส่วนใหญ่ยังคงเป็นรูปแบบเกษตรกรขายเองมากกว่าการขายเหมาให้แก่พ่อค้า โดยสัดส่วนพบว่าการขายแบบร่วง ยังสูงกว่าการขายแบบใส่ตะกร้า และยังพบว่าปัจจุบันเกษตรกรเริ่มหันมาขายเองผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น
- ด้านการคาดการณ์ราคาขายผลผลิตลำไยในฤดูของภาคเหนือ พบว่า
- การขายแบบร่วงจะมีราคาปรับลดลงจากปีที่ผ่านมา โดยในช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว โดย ลำไยขนาด AA จะมีราคาประมาณ 15- 20 บาท/กิโลกรัม ขนาด A
จะมีราคาประมาณ 7-13 บาท/กิโลกรัม และขนาด B จะมีราคาประมาณ 1-6 บาท/กิโลกรัม
- สำหรับการขายแบบตะกร้าจะมีราคาปรับลดลงจากปีที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน โดยจะมีราคาประมาณ 20-25 บาท/กิโลกรัม
จากการสอบถามความวิตกกังวลของเกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือ โดยวิธีการสัมภาษณ์ พบว่าในปีนี้มีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ด้านราคาผลผลิตลำไยที่คาดว่าจะตกต่ำลงเป็นอย่างมาก
ซึ่งจะซ้ำเติมปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และส่งผลให้เกษตรกรขาดทุน ซึ่งปัญหาต้นทุนการผลิต พบว่า ราคาปุ๋ย และสารพ่นเร่งดอก มีการปรับราคาสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ส่งผลให้เกษตรกรปรับตัวโดยการลดปริมาณการใส่ปุ๋ยและสารพ่นเร่งดอกลง รวมถึงปัญหาต้นทุนอื่นๆ ได้แก่ ค่าแรงงาน ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ในอนาคตอาจส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนตัดสินใจที่จะลดพื้นที่การผลิตลำไยลงเพราะไม่อาจสู้กับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และรายได้ไม่คุ้มค่ากับการผลิต
ในส่วนของตลาดจำหน่ายผลผลิตลำไยในฤดูที่สำคัญของประเทศไทย ยังคงเป็นประเทศจีน เวียดนามและอินโดนีเซีย โดยนโยบาย “Zero-Covid” ของประเทศจีน ที่ยังคงเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าเกษตรโดยเฉพาะการขนส่งทางบก มาตรการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลผลิตลำไยของประเทศไทยอย่างแน่นอน
สำหรับข้อเสนอแนะในการเตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาผลผลิตลำไยในปี 2565 นี้ ได้แก่
1) ควรเร่งขยายตลาดส่งออกผลผลิตลำไยทั้งรูปแบบผลสดและอบแห้งไปยังประเทศคู่ค้าใหม่ๆ
2) ควรส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ และเร่งการกระจายผลผลิตให้รวดเร็วยิ่งขึ้น
3) ควรส่งเสริมการผลิตลำไยคุณภาพและการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตลำไย
4) ส่งเสริมให้เกษตรกรขายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตลำไยได้มากขึ้น